นักวิจัยศูนย์วิจัยโรคปรสิต เผยความจริง พยาธิตืดวัวที่พบในชายวัย 60 ปี พร้อมบอกช่องทางที่เข้าสู่ร่างกาย
29 ต.ค. 2564, 16:32
จากกรณี ศูนย์วิจัยโรคปรสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี-pdrc SUT จังหวัดนครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความและลงรูปภาพว่า ในถุงนี้มิใช่บะหมี่ พาสต้า สปาเกตตี ขนมจีน หรือก๋วยเตี๋ยว แต่คือพยาธิตืด จำนวนมากจากผู้ป่วยรายเดียวที่ท่านชื่นชอบลาบก้อยซอยจุ๊จ้า หลังจากนั้นมีการคอมเม้นต์และแชร์เรื่องราวดังกล่าวกว่า 1,000 แชร์
ล่าสุดวันนี้ ( 29 ตุลาคม 2564 ) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ สอบถาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัธคพัชฬ รัตนพิทูลย์ นักวิจัยศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. เปิดเผยว่า ภาพดังกล่าวเป็นพยาธิตืดวัวที่พบในคนไข้ภาคอีสานจังหวัดหนึ่งเป็นเพศชาย อายุ 60 ปี ซึ่งไม่ได้รับอันตราย แต่มีกาตรวจพบก่อน โดยช่องทางหลักสำคัญอย่างหนึ่งที่พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ คือ ทางปาก จากการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนพยาธิ มีตัวอ่อนของพยาธิระยะติดต่อ ที่อยู่ในอาหารดิบ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ปลา หอย กุ้ง ผักสด และอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ ก้อย ซอยจุ๊ ก้อยกุ้ง ก้อยปลา ปลาร้า ปลาส้ม ตำปู ซาชิมิ ดังนั้น วิธีป้องกันพยาธิเข้าสู่ร่างกายจากการกิน คือ ดื่มน้ำสะอาด กินอาหารที่ปรุงสุก เลือกวัตถุดิบที่มาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ล้างทำความสะอาด เช่น แช่และล้างผักด้วยน้ำส้มสายชู หลีกเลี่ยงอาหารดิบหรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เก็บอาหารให้ปลอดจากแมลงและสัตว์พาหนะโรค การเก็บรักษาเนื้อสัตว์ที่อุณหภูมิเย็นจัด เช่น -20 องศาเซลเซียส หรือการใช้ความเค็มอย่างน้อย 10% ในระยะเวลานานพอที่ทำให้ปรสิตตายได้ เหล่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้
สำหรับการสังเกตอาการสำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นพยาธิหรือไม่นั้น ถ้ามีพยาธิจำนวนน้อยอาจไม่ค่อยแสดงอาการหรือมีอาการคล้ายกับโรคทางเดินอาหารทั่วไป เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เบื่ออาหาร ผอมซีด ทั้งนี้อาการของโรคพยาธิขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด จำนวนตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่ และระยะเวลาในการเป็นโรค ซึ่งหากเป็นกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและดูว่าเกิดจากพยาธิตัวไหน เนื่องจากยารักษามีหลายชนิด เช่น พราซิควอนเทล อัลเบนดาโซล มีเบนดาโซล นิโคลซาไมด์ เพื่อใช้ยาได้ตรงตามประเภทของพยาธิและทำการรักษาได้มีประสิทธิภาพที่สุด