"ชาวเพชรบุรี" นำหาบ 844 หาบ ร่วมทำบุญใหญ่ถวายสลากภัตแด่พระสงฆ์
2 ก.ย. 2562, 08:21
วันที่ 1 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านได้จัดทำหาบสลากอย่างสวยงาม ร่วมทำบุญถวายสลากภัตแด่พระสงฆ์ ที่ทางวัดจัดงานถวายสลากภัตหาบขึ้น ซึ่งนอกจากสลากภัตที่เป็นข้าวสารอาหารแห้ง ฟัก แฟง แตงกว่า วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร สารพัดอาหารสำเร็จรูป ผลไม้ตามฤดูกาลแล้ว ยังมีหาบสลากในรูปแบบของปัจจัย คือเงิน ที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาจัดทำเป็นหาบถวายเงินให้วัดเพื่อนำไปทนุบำรุงวัด รวมยอดสลากภัตกาบทั้งแบบอาหาร คาว หวาน และสลากภัตแบบปัจจัย รวม 844 หาบ
ซึ่งหลังจากประกอบพิธีถวายสลากภัตบนวัดเสร็จแล้ว พระสงฆ์ที่ทางวัดได้นิมนต์มาจากวัดต่างๆทั่วจังหวัดเพชรบุรีกว่า 200 รูป ได้ทำการจับหมายเลขหาบสลาก เมื่อได้หมายเลขแล้ว เจ้าของหาบจะหาบสลากภัตลงจากกุฎิด้านบนวัด ไปถวายพระสงฆ์ ยังด้านล่างของวัด เนื่องจากด้านบนไม่มีพื้นที่ถวาย ส่วนหาบสลากที่เหลือทั้งหมดจะถวายให้กับเจ้าอาวาสวัด จากนั้นทางคณะสงฆ์และกรรมการวัด จะเก็บไว้ฉันและทำอาหารพอประมาณ ที่เหลือทั้งหมดจะนำไปแจกแก่นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆต่อไป
ในปีนี้ นอกจากงานถวายสลากภัตหาบตามปกติแล้ว ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมกับ อบจ.เพชรบุรี และผู้นำชุมชน จัดประกวดหาบสลากภัต ขึ้นอีกด้วย เพื่อร่วมอนุรักษ์ประเพณีถวายสลากภัตหาบให้คงอยู่คู่อำเภอบ้านลาดและจังหวัดเพชรบุรีตลอดไป สลากภัตร่วมประเพณีถวายสลากภัตกันอย่างคึกคัก เนื่องจากผู้นำท้องถิ่น กับคณะกรรมการวัด จัดให้มีขบวนแห่พุ่มเงิน และสลากภัตจากผู้มีจิตศรัทธา เดินแห่ไปตามถนนในชุมชน และเคลื่อนขบวนไปสู่วัดโพธิ์ลอย โดยมีนายไพบูลย์ ยิ้มแย้ม นายอำเภอบ้านลาด หาบสลากภัตนำขบวนชาวบ้านเข้าสู่วัดโพธิ์ลอย มีทั้งหนุ่มสาว และวัยสูงอายุร่วมร้องรำกันอย่างสนุกสนาน สำหรับประเพณีถวายสลากภัตหาบ จะจัดขึ้นช่วงเข้าพรรษา จากตำนานเล่าขานกันว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ได้บัญญัติไว้ว่า ให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน เพราะเป็นฤดูฝน ชาวนาเริ่มทำนา ทำให้การเดินทางของพระภิกษุอาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวนาได้รับความเสียหาย จึงควรมีภัตตาหารสำรองไว้ จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาในการจัดอาหารทั้งสด และแห้งที่สามารถเก็บไว้ประกอบอาหารในวัด อันเป็นที่มาของประเพณีการถวายสลากภัต ซึ่งเพียงนำหาบที่ตกแต่งด้วยสิ่งของต่างๆ ไปยังวัด และให้คณะกรรมการติดหมายเลขที่หาบ จากนั้นพระภิกษุสงฆ์ และสามเณรก็จะเป็นผู้จับสลากว่าได้หมายเลขตรงกับหาบของพุทธศาสนิกชนท่านใด
จากนั้นก็จะให้พุทธสานิกชนท่านนั้นนำถวายพระสงฆ์ จากการสอบถามชาวบ้านทราบว่า พิธีถวายสลากภัตเกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจน เพียงแต่บอกว่า เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตกาล เป็นกิจกรรมทำบุญของพุทธสานิกชนในช่วงเข้าพรรษา โดยที่ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้เล่าให้ฟังว่า ในอดีตเส้นทางคมนาคมไม่ได้เหมือนกับในปัจจุบัน การเดินทางค่อนข้างลำบาก ช่วงเข้าเข้าพรรษาอยู่ในช่วงฤดูฝน ชาวนาอยู่ระหว่างการทำนา ทำให้การเดินบิณฑบาตของพระสงฆ์ลำบาก
อีกทั้งพระสงฆ์ก็ไม่สามารถไปค้างอ้างแรมยังสถานที่ต่างๆ ได้ เมื่อเกิดฝนตกก็จะสร้างความลำบากแก่พระสงฆ์ ดังนั้น ญาติโยมจึงมีความคิดนำวัตถุดิบที่เก็บไว้ปรุงอาหารได้หลายวันได้ไปถวายพระสงฆ์ เพื่อให้มัคนายกวัดใช้ปรุงเป็นอาหารถวายแก่พระสงฆ์ช่วงที่ไม่สามารถออกไปบิณฑบาตตามปกติได้ โดยนำข้าวสาร อาหารแห้ง ฟัก แฟง น้ำตาล น้ำปลา มาถวาย แต่ต้องใส่หาบ แล้วหาบมาถวายที่วัด เนื่องจากสิ่งของมีจำนวนมาก ต่อมาได้พัฒนาตกแต่งใส่หาบประดับด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม ก่อนหาบมาถวายพระ จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และมีไม่กี่ตำบลในอำเภอบ้านลาด ยังคงจัดให้มีพิธีถวายสลากภัตหาบ ขึ้น