นายกฯ ร่วมประชุม COP26 รับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลก
31 ต.ค. 2564, 14:55
วันนี้ ( 31 ต.ค.64 ) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ในการเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร คือการนำเสนอเป้าหมายและการดำเนินงานที่แข็งขันต่าง ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (LT-LEDS)” ซึ่งเป็นการดำเนินการตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เป็นกติการะหว่างประเทศในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เร็วที่สุดภายในครึ่งปีหลังของศตวรรษนี้ ทั้งนี้ ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
โฆษกประจำสำนักฯ กล่าวว่า ไทยยังมีการดำเนินตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในหลายๆ ส่วน อาทิ
1. การยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. การกำหนดเป้าหมายให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จำนวน 15 ล้านคัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2578
3. การปลูกต้นไม้ยืนต้นทั่วประเทศจำนวนหนึ่งร้อยล้านต้นภายในปี 2565 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (nature-based solutions) ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว นอกจากการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชนแล้ว ไทยยังได้รับความร่วมมือจากมิตรประเทศ สนับสนุนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ อาทิ สหรัฐฯ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยส่งเสริมการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในโครงข่ายไฟฟ้าของไทย
อนึ่ง กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) กำหนดเป้าหมายร่วมกันคือ เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไม่ให้เกินระดับที่จะเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตและความมั่นคงทางอาหาร โดยทุกประเทศต้องร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันตามขีดความสามารถที่แต่ละประเทศจะทำได้ และได้จัดให้มีการประชุมสมัชชารัฐภาคีฯ ที่เรียกว่า Conference Of the Parties (COP) เป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีและคณะ ประกอบด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมฯ ในช่วงเย็นวันนี้ และจะมีการรายงานข่าวการเดินทางของนายกรัฐมนตรีเป็นระยะต่อไป