เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศาลสั่งจำคุก "เบนจา" 6 เดือน "ณัฐชนน" 4 เดือน ชุมนุมเรียกร้องปล่อยแกนนำราษฎรหน้าศาล


1 พ.ย. 2564, 17:04



ศาลสั่งจำคุก "เบนจา" 6 เดือน "ณัฐชนน" 4 เดือน ชุมนุมเรียกร้องปล่อยแกนนำราษฎรหน้าศาล




วันนี้ ( 1 พ.ย.64 ) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลหมายเลขดำ ล.ศ.8/2564 ที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ผู้กล่าวหา นายณัฐชนน ไพโรจน์ ผู้ถูกกล่าวหา ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล กรณีเมื่อวันที่  29 เม.ย.64 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ชวนกันทำกิจกรรมยื่นจดหมายราชอยุติธรรม พร้อมทั้งยืนอ่านกลอนตุลาการภิวัติ ที่ศาลอาญา โดยมีกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณบันไดทางขึ้นศาล ซึ่งมีการใช้เครื่องขยายเสียงและตะโกนข้อความ" ปล่อยเพื่อนเรา" โดยระหว่างทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งยืนอยู่หน้าบันไดทางขึ้นศาล พูดผ่านเครื่องขยายเสียงข้อความว่า "ผมขอไม่นับว่าท่านจบที่ธรรมศาสตร์ที่เดียวกับผม เพราะท่านไม่เคยรักประชาชนเหมือนที่มหาลัยสอน คุณมันไร้กระดูกสันหลัง...ฯลฯ" และยังได้ร่วมตะโกนว่า "ชนาธิปออกมารับจดหมาย" หลายครั้ง



ศาลพิเคราะห์คำเบิกความพยานหลักฐานของผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตรงกันว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุมีการร่วมชุมนุมของกลุ่มมวลชนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าศาลอาญา เพื่อยื่นจดหมายราชอยุติธรรม พร้อมทั้งยืนอ่านบทกลอนตุลาการภิวัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจำนวน 7 คนซึ่งอยู่ในกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีผู้ถูกกล่าวหาร่วมชุมนุมอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญาและพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ ผมไม่นับว่าท่านจบธรรมศาสตร์ที่เดียวกับผม เพราะท่านไม่เคยรักประชาชนเหมือนที่มหาวิทยาลัยสอน คุณมันไร้กระดูกสันหลัง ถ้าคุณไร้กระดูกสันหลังคุณก็ไม่ได้ตั้งตรงเหมือนคนทั่วไป และผู้ถูกกล่าวหายังได้ตะโกนว่า “ ชนาธิปออกมารับจดหมาย” หลายครั้ง

ข้อเท็จจริงในส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหา เบิกความว่าผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าผู้พิพากษาหลายท่านจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมีคำขวัญว่า “ ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" ผู้ถูกกล่าวหาจึงมีความรู้สึกร่วมว่าในการประกันตัวของผู้ต้องหาในศาลชั้นต้นผู้ต้องหาควรได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และควรได้รับการประกันตัว เมื่อมีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมบางคนไม่ได้รับการประกันตัวในศาลผู้ถูกกล่าวหาจึงมีความรู้สึกว่าศาลไม่ได้ให้ความเป็นธรรม และผู้ถูกกล่าวหายังได้เบิกความตอบคำถามเพิ่มเติมว่าที่ผู้ถูกกล่าหาพูดว่ า“ คุณมันไร้กระดูกสันหลัง ถ้าคุณไร้กระดูกสันหลังคุณก็ไม่ได้ตั้งตรงเหมือนกับคนทั่วไป” คำว่ากระดูกสันหลังนั้น หมายถึงหลักการ และการที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวว่า ศาลไม่ยุติธรรมในการให้ประกันตัวเพราะคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้นศาลให้เหตุผลว่าเกรงว่าจำเลยจะไปกระทำความผิดอื่นซึ่งขัดกับหลักการที่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือราชอยุติธรรม


ศาลเห็นว่าโดยเนื้อหาข้อความในการพูดของผู้ถูกกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสิทธิการปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ผู้ถูกกล่าวหามีความคิดเห็นต่างไปจากดุลยพินิจของศาล ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ถูกกล่าวหาสามารถคิดและแสดงความคิดเห็นดังกล่าวได้ แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมในการชุมนุมดังกล่าวและพูดตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงตามที่ปรากฏในแผ่นบันทึกเหตุการณ์ภาพเคลื่อนไหวด้วยพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ขู่ตะคอก เอะอะโวยวายร่วมกับผู้ชุมนุมอื่น อีกทั้งในขณะที่ผู้ร่วมชุมนุมอื่นใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตีการทำงานของศาลผู้ถูกกล่าวหายังส่งเสียงโห่ร้องและแสดงกริยาสนับสนุนด้วยถ้อยคำที่ก้าวร้าวและยังร่วมตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” 

พฤติกรรมดังกล่าวจึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะเข้าร่วมกับมวลชนกดดันศาลให้ใช้ดุลพินิจไปตามความต้องการของตนกับพวก ไม่มีความเคารพความเห็นต่างของผู้อื่นดังเช่นผู้มีอารยะทางความคิดในแนวเสรีประชาธิปไตยพึงกระทำ และการกระทำดังกล่าวยังกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 188 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็วเป็น ธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง” อันเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 15 จึงมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลา 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

ขณะที่ก่อนหน้านี้ทวิตเตอร์ TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่ข้อความระบุว่า ด่วน! ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน เบนจา ในคดี ละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเป็น โทษสูงสุดของข้อหานี้ กรณีชุมนุมทวงสิทธิประกันตัวผู้ต้องขัง 112 หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. โดยวันนี้ศาลได้เบิกตัวเบนจาจากทัณฑสถานหญิงเพื่อมาฟังคำสั่งด้วย 

ที่มา : แนวหน้า






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.