นายกฯ กล่าวปาฐกถาในการประชุม APEC CEO Summit ย้ำแนวคิด "เปิดกว้าง เชื่อมโยง สมดุล"
12 พ.ย. 2564, 10:14
วันนี้ (12 พ.ย. 64) เวลา 07.06 น. ตามเวลาประเทศไทย (หรือเท่ากับเวลา 13.06 น. ของเมืองโอ๊คแลนด์) ณ เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาในการประชุม APEC CEO Summit ภายใต้หัวข้อ "ประเด็นสำคัญการเป็นเจ้าภาพของไทยในปี 2565" (Thailand’s Priorities for APEC 2022) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของปาฐกถา ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับ ABAC นิวซีแลนด์ที่จัดการประชุมครั้งนี้ออกมาได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2564 เป็นอีกปีที่ท้าท้ายเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี APEC ภายใต้การเป็นเจ้าภาพของนิวซีแลนด์ และด้วยจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือ ได้พิสูจน์ว่า APEC สามารถยืนหยัดเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ฟื้นฟูการสาธารณสุข เปิดพรมแดน และพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โลกที่เราอยู่อาศัย และความมั่งคั่งร่วมกัน โดยตัวอย่างความสำเร็จของ APEC คือ ความพยายามร่วมกันในการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีน และการอำนวยความสะดวกในการขนส่งวัคซีนและเวชภัณฑ์ ซึ่งในประเด็นนี้ต้องขอขอบคุณการสนับสนุนจากภาคเอกชนด้วย
เวลานี้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนทัศนคติไปสู่ "ความพอดี" สร้างสังคมหลังการแพร่ระบาดที่มีความยั่งยืนและสมดุล โดยประเทศไทยได้นำโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และโมเดลนี้จะขับเคลื่อนประเด็นสำคัญในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย นอกจากนี้ ไทยมุ่งมั่นสานต่อการทำงานที่ผ่านมาของ APEC และเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 โดยแปลงวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ ผ่านปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ 3 ประการ ได้แก่ 1) การค้าและการลงทุน 2) ดิจิทัลและนวัตกรรม และ 3) ความยั่งยืนและการมีส่วนร่วม โดยการรับรองแผนปฏิบัติการของวิสัยทัศน์ปุตราจายาในคืนนี้จะเป็นความสำเร็จที่สำคัญของนิวซีแลนด์ในการแปลงวิสัยทัศน์ของผู้นำ APEC ไปสู่แผนการทำงานที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง
ในปี 2565 ประเทศไทยมุ่งมั่นจะทำให้ APEC "เปิดกว้าง" สำหรับทุกโอกาส "เชื่อมโยง" ในทุกมิติ และ "สมดุล" ในทุกด้าน วาระการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยจะสอดคล้องกับเป้าหมายและการดำเนินการที่มีอยู่แล้วของ APEC แต่นำเสนอภายใต้แนวคิดแบบใหม่ โดยประเด็นสำคัญมีอยู่ 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน สานต่อการเปิดตลาดผ่านการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี พยายามฟื้นการหารือเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรีในเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) หลังยุคโควิด-19 ส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล และการรับมือกับประเด็นทางการค้าใหม่ ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข และการพัฒนาที่ครอบคลุม ซึ่งไทยหวังว่าจะได้ทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับภาคเอกชนในเรื่องนี้
ประการที่สอง การฟื้นฟูความเชื่อมโยง ไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัยและไร้รอยต่อ โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ไทยได้เปิดประเทศเพื่อรับนักเดินทางทางอากาศจาก 63 ประเทศและอาณาเขต ซึ่งเขตเศรษฐกิจ APEC ส่วนใหญ่ก็รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดัน ไทยจะดำเนินการตามคำแนะนำของ ABAC ในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเดินทางอย่างปลอดภัย เพื่อร่วมมือกันเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกันอีกครั้ง
ประการที่สาม การส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ไทยยืนยันว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของ APEC จะครอบคลุมและยั่งยืน โดยในที่ประชุม COP26 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้ยืนยันความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนและการมีสภาพภูมิอากาศที่ดี โดยไทยจะศึกษาโมเดลทางเศรษฐกิจ และการดำเนินการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึง โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วาระการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยได้สะท้อนข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจที่ต้องการให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมยืนยันว่า ไทยจะสานต่องานของ APEC และมอบมุมมองใหม่ต่อประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในบริบทของโลกหลังโควิด-19