"สำนักงานพื้นที่พิเศษ3" จับมือสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โชว์ผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบสุดเก๋
3 ก.ย. 2562, 13:47
เวลา 10.00 น. วันที่ 3 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONBnews รายงานว่า ที่ห้องประชุมสัมนาโรงเเรมเบลลา วิลลา คาบาน่าพัทยา นายธิติ จันทร์แต่งผล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท. 3) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมนา การจับมือสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) โชว์ผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบสุดเก๋ ภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยว เรียนรู้ อยู่นาน” รองรับการท่องเที่ยวในอีอีซี โดยมีดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) ได้เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้
สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 หรือ อพท.3 ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ(สสท.)นำร่องดึงอัตลักษณ์ 3 ชุมชนภาคตะวันออก ได้แก่ เครื่องจักสานบ้านไร่หลักทอง และชุมชนผ้าทอบ้านปึก จังหวัดชลบุรี และชุมชนเสื่อบ้านท่าแฉลบ ตำบลบางกะจะ จังหวัดจันทบุรี สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยว เรียนรู้ อยู่นาน” มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สนับสนุนการท่องเที่ยว รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC
โดยทางด้านนายธิติ จันทร์แต่งผล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 เปิดเผยว่าได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกบนอัตลักษณ์ชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก (Active Beach) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดและตั้งเป้าสร้างองค์ความรู้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนำวิถีชีวิต อัตลักษณ์ท้องถิ่น ผสมผสานกับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคปัจจุบัน สร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการเติบโตของเขตการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) เป็นที่ปรึกษา โดยดำเนินกิจกรรม ค้นหาอัตลักษณ์เพื่อกำหนดกรอบการพัฒนามาตรฐานและออกแบบผลิตภัณฑ์พร้อมระดมความคิดเห็นโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จนได้กรอบในการพัฒนาภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยว เรียนรู้ อยู่นาน” นำไปสู่แนวทางในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว และพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์พร้อมออกสู่ตลาดและเป็นต้นแบบการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ ยกระดับผลิตภัณฑ์พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ EECต่อไปในอนาคต