ศบค.เผยยังพบคลัสเตอร์โรงงาน ตลาด แคมป์ก่อสร้างต่อเนื่อง -เฝ้าระวังต่างด้าวลอบเข้าประเทศ
17 พ.ย. 2564, 16:33
วันนี้ ( 17 พ.ย.64 ) พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ว่า จากการติดตามสถานการณ์โควิดในไทย ที่พบขณะนี้ 10 จังหวัด ที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดคือ กรุงเทพฯ สงขลา เชียงใหม่ สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช ชลบุรี ปัตตานี ยะลา สุราษฎร์ธานี ตรัง ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ พบช่วง 3 วันที่ผ่านมาตัวเลขขยับขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นการรายงานเคสสะสมย้อนหลัง จึงได้มีการขอไปยังหน่วยบริการให้มีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อแบบวันต่อวัน เพราะต้องนำข้อมูลการติดเชื้อรายวันนี้ไปใช้ในการประเมินและกำหนดมาตรการ ซึ่งมาตรการจะต้องเสนอในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูรายจังหวัด จะพบจังหวัดที่มียอดผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 100 ราย มี 17 จังหวัดที่รายงาน 51-100 ราย มี 19 จังหวัดที่รายงาน 11-50 ราย มี 27 จังหวัดที่รายงาน 1-10 ราย มี 12 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่รายงานไม่พบผู้ป่วยเลย มี 2 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง อำนาจเจริญ
จากการติดตามยังคงพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ต่อเนื่อง ทั้งคลัสเตอร์โรงงาน สถานประกอบการหลายแห่ง ที่จังหวัดลำปาง ระยอง ชลบุรี เชียงใหม่ คลัสเตอร์ตลาด พบที่เชียงใหม่ กาญจนบุรี ขอนแก่น จันทบุรี ชลบุรี คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง พบที่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ จันทบุรี คลัสเตอร์โรงเรียน พบที่จังหวัดอุบลราชธานี เชียงใหม่ ชลบุรี คลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา พบในงานทอดกฐินเป็นผู้ป่วยที่ขึ้นยอดที่จังหวัดสมุทรสงคราม แต่มาทอดกฐินที่จังหวัดน่านและพิษณุโลก แถมไปเที่ยวต่อเชียงราย คลัสเตอร์งานศพ พบที่จังหวัดพะเยา ปราจีนบุรี และคลัสเตอร์เรือนจำ พบที่จังหวัดเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ศรีสะเกษ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นครราชสีมา ราชบุรี
การกระจายของคลัสเตอร์สถานประกอบการ ตลาด แคมป์ก่อสร้าง เนื่องจากมีการกลับเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวหลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ และพบแรงงานลักลอบเข้ามาตามตะเข็บชายแดนรอบประเทศไทย โดยเฉพาะทางจันทบุรี ตาก เชียงใหม่และกาญจนบุรีอย่างต่อเนื่อง ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ช่วยเป็นหูเป็นตาหากพบแรงงานลักลอบทำงานให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หรือฝ่ายปกครอง พร้อมได้กำชับขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ ช่วยติดตามกำกับและเอาผิดตามกฎหมายกับสถานประกอบการที่รับแรงงานลักลอบเข้ามา