นายกฯ ขอบคุณแบงก์ชาติ ปลดล็อครวมหนี้ระหว่างธนาคาร
21 พ.ย. 2564, 15:16
วันนี้ ( 21 พ.ย.64 ) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ช่วยเร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน คู่ขนานไปกับมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล โดย ธปท. ได้ออกมาตรการอย่างต่อเนื่องในการช่วยเหลือลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สถาบันการเงินมีเครื่องมือในการช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น
ล่าสุด เมื่อ 16 พ.ย. ธปท. ได้ออกแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ประกอบด้วย 1) ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่เรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) เช่น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ทั้งจำนวนหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อลดข้อจำกัดในการรีไฟแนนซ์และสนับสนุนการรวมหนี้ ทั้งนี้ ให้มีผลจนถึง 31 ธันวาคม 2566 และ 2) ปรับปรุงแนวทางการรวมหนี้ (debt consolidation) ระหว่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นโดยขยายขอบเขตให้สามารถรวมหนี้ระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจได้จากเดิมที่ทำได้เฉพาะสถาบันการเงินเดียวกัน
ทั้งนี้ แนวทางทั้งสองจะช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ได้อย่างมาก และสามารถบริหารจัดการหนี้ส่วนบุคคลให้สอดรับกับสถานะทางการเงินของตนเอง ต่อลมหายใจโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกฟ้องร้อง
ในส่วนของรัฐบาล ได้ออกมาตรการ ช่วยเหลือสภาพคล่องเอสเอ็มอีเพื่อรักษาระดับจ้างงาน พยุงการจ้างงานให้ลูกจ้างนับล้านมีงานทำ มีเงินเดือนต่อไป ผ่านการให้เงินช่วยเหลือสถานประกอบการในระบบประกันสังคม ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน จำนวน 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง เป็นเวลาสามเดือน (พฤศจิกายน - ธันวาคม) ซึ่งระยะเวลาการลงทะเบียนได้สิ้นสุดลงเมื่อคืน วันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยตัวเลขผู้ลงทะเบียน ณ วันที่ 19 พ.ย มีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 2.01 แสนราย ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 2.87 ล้านคน สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนแล้วระบบแจ้งว่า "ขาดคุณสมบัติ" สามารถดำเนินการยื่นเรื่องขอทบทวนสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ "ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th" ตั้งแต่ 21 – 27 พ.ย. 64 ทั้งนี้คาดว่าการจ่ายเงินจะเริ่มในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในหลายด้าน อาทิ ออกกฎหมายป้องกันการคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ไม่เป็นธรรม จัดการเจ้าหนี้นอกระบบ ช่วยเหลือให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เข้าถึงสินเชื่อผ่านธนาคารรัฐ มาตรการลดภาระค่าใช่จ่าย และเร่งฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ให้ผู้ประกอบการได้เดินหน้า ประชาชนมีงานทำ และเมื่อเชื่อมโยงกับมาตรการของ ธปท.ข้างต้น ก็จะเสริมส่งกัน บรรเทาภาระหนี้สินภาคครัวเรือนได้