นายกฯ เผยวิกฤติ ทำให้สายสัมพันธ์อาเซียน-จีน แน่นแฟ้นขึ้น พร้อมก้าวข้ามอุปสรรคด้วยวิสัยทัศน์ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"
23 พ.ย. 2564, 11:53
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ว่า ผมได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ในฐานะองค์ประธานอาเซียน เป็นประธานร่วมในการประชุมครั้งนี้
โดยประเทศจีนนั้น นอกจากจะเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลกแล้ว ยังเป็น "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน" (Comprehensive Strategic Partnership) กับอาเซียน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เชื่อมโยงกันในทุกมิติ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนตั้งแต่ปี 2552 มีมูลค่าการลงทุน FDI ในอาเซียนเป็นอันดับ 4 และมีความร่วมมือกับอาเซียนผ่านข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ในปี 2562 เป็นต้นมา ส่วนด้านสังคมและวัฒนธรรม จีนและอาเซียนก็มีความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน
นอกจากนี้ ในระดับประชาชน มีการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันมากกว่า 65 ล้านคน ในปี 2562 ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอาเซียนมากที่สุดอันดับ 1 ก็คือชาวจีน ส่วนด้านความมั่นคงนั้น ที่ผ่านมาเกือบสองปี ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนต่างก็ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดโควิด และเกิดความร่วมมือ ช่วยเหลือกันอย่างเข้มแข็งแม้ในยามวิกฤต จีนเองได้บริจาควัคซีนจำนวนมากให้แก่ชาติสมาชิกอาเซียน รวมไปถึงความร่วมมือกันจัดการกับวิกฤตที่กำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆอย่างปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ยังมีความละเอียดอ่อนในประเด็นทะเลจีนใต้ ที่อาจกระทบบรรยากาศการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และดุลยภาพในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ต้องอาศัยการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกด้วย
ในเวทีการประชุมนี้ ผมได้นำเสนอ "สปิริตแห่งความร่วมมือ" ที่ควรเริ่มต้นจากการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค บนพื้นฐานของหลักการ 3M คือ 1) ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Mutual Trust) 2) ความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) และ 3) ผลประโยชน์ที่ได้ร่วมกัน (Mutual Benefit) เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี เกื้อกูลไปสู่การขยายความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย คือ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ที่ประเทศไทยกำลังก้าวข้ามผ่านวิกฤตสู่ยุค Next Normal ด้วยการพลิกโฉมประเทศไทย ซึ่งผมได้ประกาศประเด็นยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อน 3 ประเด็นสำคัญคือ
(1) การพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไทยและอาเซียนจะแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับจีนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกๆ ด้าน
(2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมจากฐานราก ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างพลิกผัน โดยอาเซียนและจีนจะต้องร่วมกันส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
(3) การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทั้งอาเซียนและจีนต้องร่วมมือกันในฐานะสมาชิกทวีปเอเชียและประชาคมโลก ซึ่งไทยจะยึดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการมุ่งสู่การแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ดังจะเห็นได้ว่า ไทย อาเซียน และจีน เป็นมหามิตรที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน ประชาชนของแต่ละประเทศต่างผูกเชื่อมใจไว้ด้วยกันเช่นพี่น้อง ที่มีแต่ความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือจุนเจือกัน ส่งเสริม แลกเปลี่ยนรอยยิ้มและมิตรภาพกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ผมจึงเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า แม้วิกฤตที่ผ่านมาแม้จะหนักหนาสาหัสเพียงใด แต่ก็มิได้ทำให้สายใยแห่งสัมพันธ์ฉันพี่น้องนี้คลายลง กลับยิ่งทำให้เราต่างเห็นอกเห็นใจกัน เข้าใจกัน และร่วมกันจับมือก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปด้วยกัน ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการร่วมพัฒนายกระดับให้บ้านเมืองของแต่ละประเทศและทั้งภูมิภาคนี้ให้เจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี ไปด้วยกันอย่างมั่นคงและแข็งแรงต่อไปครับ