เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.1 เผย! กทม. มีแผนรองรับการระบายน้ำ เร่งเพิ่มระบบดันท่อลอดใต้ดิน เพิ่มประสิทธิภาพ


26 พ.ย. 2564, 11:03



มท.1 เผย! กทม. มีแผนรองรับการระบายน้ำ เร่งเพิ่มระบบดันท่อลอดใต้ดิน เพิ่มประสิทธิภาพ




วันนี้ (25 พ.ย. 64) ที่อาคารรัฐสภา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถาม ของนายศิริพงษ์ รัสมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตหนองจอก กทม. เรื่อง ปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ระบบการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ใช้การสร้างทำนบกั้นน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอีกส่วนหนึ่งมีการทำเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ เพื่อให้พื้นที่กรุงเทพมหานครดำเนินการระบายน้ำเฉพาะน้ำฝนที่ตกมาเท่านั้น อย่างไรก็ตามด้วยพื้นที่ของกรุงเทพมหานครนั้นสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 0.5 - 1 เมตร และพื้นที่ในกรุงเทพมหานครนั้นส่วนใหญ่เป็นสิ่งก่อสร้าง อาทิ ตึก และถนน ทำให้น้ำฝนซึมลงไปได้ยาก และที่ถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่กระทบต่อระบบระบายน้ำ คือ ฝนที่ตกลงมานั้นไม่ว่าจะตกมาลงในพื้นที่ใด จะไหลลงไปในท่อระบายน้ำ และระบายลงไปที่ คู คลอง แล้วลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอีกส่วนระบายลงอ่าวไทย และแม้จะมีอุโมงค์ระบายน้ำ พื้นที่อุโมงค์ก็อยู่ในพื้นที่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยา หากฝนตกเต็มพื้นที่กรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจะระบายน้ำไม่ได้ ต้องให้น้ำที่อยู่บริเวณใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาระบายไปก่อนถึงจะระบายได้ ฉะนั้นจึงเกิดน้ำท่วมขังหรือรอระบาย ดังนั้น ในบางพื้นที่ก็จะมีการทำแก้มลิงรวมน้ำ เช่น บึงหนองบอน เป็นต้น ปัญหาอีกประการคือการอุดตันของท่อระบายน้ำจากขยะ ขยะส่วนใหญ่ที่พบเห็นนั้นเป็นขยะที่เกิดจากการไหลลงมาร่วมกับน้ำตามที่สาธารณะต่าง ๆ ไหลลงไปในท่อระบายน้ำ และท่อระบายน้ำกว่า 50% ยังเป็นท่อเก่าซึ่งมีความกว้างประมาณไม่เกิน 60 เซนติเมตร ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การระบายน้ำกรุงเทพมหานครช้าลง

 



พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการ มีดังนี้ 1) กรุงเทพมหานครได้มีการขุดลอกท่อกว่า 50 - 60% ของจำนวนท่อระบายน้ำกว่า ๖,๕๖๔ กิโลเมตรในทุกปี โดยมีลำดับ คือ ในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมหรือเป็นจุดเสี่ยง จะทำการลอกท่อทำความสะอาดทุกปีและมีการตรวจสอบทุก 6 เดือน ในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง จะทำความสะอาดแบบปีเว้นปี และมีการตรวจสอบทุก 6 เดือน และ พื้นที่ทั่วไป จะทำทำความสะอาดทุก 2 ปีและมีการตรวจสอบรายปี 2) การขุดลอกคูคลอง โดยกรุงเทพมหานคร มีคูคลองทั้งสิ้น 1,980 คลอง ระยะทาง 2,743 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นพื้นที่รับน้ำต่อจากท่อระบายน้ำ ซึ่งคูคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร มีการขุดลอกเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำและพื้นที่ระบายน้ำเพิ่มขึ้น 3) การสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ มีการสร้างอุโมงค์เพื่อจะนำน้ำออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด ซึ่งในขณะนี้มีอุโมงค์ที่ดำเนินการแล้วที่จะระบายน้ำในพื้นที่ห่างไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 4 อุโมงค์ กำลังดำเนินการก่อสร้าง 1 อุโมงค์ อยู่ระหว่างหาผู้ประกอบการก่อสร้าง 3 อุโมงค์ และอยู่ระหว่างของงบประมาณอีก 2 อุโมงค์ ซึ่งจะทำให้ระบบการระบายน้ำนั้นสามารถดำเนินการระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังในระยะยาว


พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้นได้มีการประสานงานกับหน่วยงานระบายน้ำ ให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่จุดวัดบางไทร ซึ่งจะทำให้การควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้สูงกว่าคันกั้นน้ำ และกรุงเทพมหานครสามารถระบายน้ำออกมาได้ และการดำเนินต่อไปจะทำท่อระบายน้ำกึ่งกลางถนนโดยใช้ระบบดันท่อลอดใต้ดิน หรือ Pipe jacking เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและผลกระทบต่อการจราจรและการใช้พื้นที่ของประชาชน โดยระบบนี้จะเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของท่อระบายน้ำเล็ก ๆ ได้ รวมถึงมีระบบกรองขยะด้วย ซึ่งกรุงเทพหานครกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้


คำที่เกี่ยวข้อง : #มท.1   #มหาดไทย  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.