ธ.ก.ส. จับมือ 6 ภาคีเครือข่าย ร่วมลดการเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5
26 พ.ย. 2564, 16:55
วันที่ 26 พ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ณ อาคารหอประชุมสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 ตำบลท่าไม้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี นายนักรบ อินทรสาลี ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยผู้แทนจาก 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อย เขต 7 ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง (กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง 9 โรงงาน และโรงงานน้ำตาล นิวกรุงไทย ที่เป็นพันธมิตร) สมาคมส่งเสริมอาชีพการเกษตรสุพรรณบุรี โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี โรงงานน้ำตาลมิตรผล และโรงงานน้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล (อู่ทอง) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการลดการเผาอ้อยร่วมกับเครือข่ายเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ปี 2564/65 - ปี 2566/67” ในการสนับสนุนและดูแลชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการลดการเผาอ้อยเพื่อลด ฝุ่นละออง PM 2.5
นายนักรบ อินทรสาลี กล่าวว่า จากสถานการณ์ด้านมลพิษที่ทวีความรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเกษตรกรสามารถประกอบอาชีพควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. ได้จับมือกับ 6 ภาคีเครือข่าย ในการสนับสนุนและดูแลชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการลดการเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่มีการผลิตอ้อยมากที่สุดในภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี
โดยการดำเนินงานนอกจากการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ยังมุ่งเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่เพาะปลูกอ้อย เช่น การสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยปรับพื้นที่รองรับรถตัดอ้อยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อยและการเผาอ้อย การส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยที่มีความพร้อมได้จัดซื้อเครื่องอัดใบอ้อย (Square Balers) เพื่อส่งขายให้กับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมในกระบวนการผลิตน้ำตาลและผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มรายได้และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมถึง ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนชาวไร่อ้อยด้วยสินเชื่อพิเศษในแต่ละขนาดพื้นที่ (Farm Size) เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ การทำไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่ทันสมัย (Smart Farming) มาปรับใช้เพื่อให้เกิดผลตอบแทนคุ้มค่ามากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหน่วยงานราชการและเครือข่าย อาทิเช่น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 2 สุพรรณบุรี และ เขต 8 ราชบุรี สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.จังหวัดกาญจนบุรี ,ราชบุรี และ สุพรรณบุรี จำกัด เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทรายที่ 7
นายนักรบ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าว ตั้งเป้าหมายลดการเผาอ้อยลงร้อยละ 20 ในปี 2564 จำนวนพื้นที่ 319,627 ไร่ ปี 2565 ลดลงร้อยละ 50 จำนวนพื้นที่ 799,067 ไร่ และภายในปี 2566 ลดลงร้อยละ 100 จำนวนพื้นที่ 1,598,133 ไร่ หรือครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดใน 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน ตามนโยบายส่งเสริมการควบคุมดูแลภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของทุกประเทศในขณะนี้
ดร.สุทธิพล เอี่ยมประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 กล่าวว่าจากที่ทาง ธ.ก.ส. ร่วมลงมือเป็นภาคีเครือข่ายลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะ pm 2.5 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อม และมีหน่วยงาน ธ.ก.ส. ที่มีความเข็มแข็งเข้ามาช่วยดูแล ก็เป็นต้นแบบให้กับภาคเกษตรกรรม เพื่อช่วยลดในเรื่อง pm 2.5 ร่วมกันเป็นการที่มีเป้าหมายชัดเจนยิ่งขึ้นโดยมีทาง ธ.ก.ส. เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้
นอกจากต้นเหตุของ pm 2.5 ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะภาคเกษตรกรมเท่านั้น ยังมีภาคขนส่ง รถยนต์ หรือเรือ ก็เป็นต้นเหตุให้เกิดมลพิษ pm 2.5 ด้วยเช่นกันดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแลเรื่องนี้ รวมถึงการหาพลังงานทดแทนเข้ามาช่วยอีกทางก็จะเป็นการลดมลพิษค่า pm 2.5 ภายในประเทศได้เช่นกัน