"หมอธีระ" สรุปสาระสำคัญ 5 ข้อ "โอไมครอน" เสี่ยงแพร่กระจายไปทั่วแทบทุกทวีป
29 พ.ย. 2564, 09:34
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 378,791 คน ตายเพิ่ม 4,138 คน รวมแล้วติดไปรวม 261,737,293 คน เสียชีวิตรวม 5,216,801 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน สหราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.67 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.9 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึงร้อยละ 69.75 ของทั้งโลก พอๆ กับจำนวนเสียชีวิตเพิ่มที่คิดเป็นร้อยละ 61.23 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 5,854 คน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก หากรวม ATK อีก 1,622 คน จะขยับเป็นอันดับ 15 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากตุรกีและเวียดนาม อัพเดตจากองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับ Omicron เมื่อคืนนี้องค์การอนามัยโลกออกประกาศล่าสุด สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
หนึ่ง ยังต้องการข้อมูลวิจัยเพิ่มเติมว่าโอไมครอนจะมีศักยภาพในการแพร่เชื้อติดเชื้อ รวมถึงความรุนแรงของโรค และเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ว่าจะแตกต่างจากสายพันธุ์ที่เราเจอมาก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยในปัจจุบันพบว่ามีการแพร่ระบาดขยายตัวในทวีปแอฟริกามากขึ้น และพบในประเทศอื่นๆ ด้วย
สอง ข้อมูลปัจจุบันพบว่าโอไมครอนนั้นทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในคนที่เคยเป็นโรคโควิดมาก่อน มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ (Re-infection)
สาม การใช้สเตียรอยด์ และ IL6 receptor blockers ยังมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่รุนแรง
สี่ การตรวจด้วยวิธี RT-PCR ยังสามารถใช้ตรวจสายพันธุ์นี้ได้
และห้า การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องใส่หน้ากาก เปิดหน้าต่างระบายอากาศในสถานที่เราอยู่ ล้างมือ เว้นระยะห่างจากคนอื่น หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่แออัดหรือระบายอากาศไม่ดี รวมถึงการไปฉีดวัคซีนด้วย
ข่าวเช้านี้จากสำนักข่าวซินหัว แจ้งว่า แคนาดาก็พบเคสติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว 2 คน หากติดตามจะพบว่าตอนนี้ดูเหมือนจะกระจายไปทั่วแทบทุกทวีป ทั้งแอฟริกา ยุโรป เอเชีย โอเชียเนีย และอเมริกาเหนือ ยังขาดแต่อเมริกาใต้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า แต่ละประเทศอาจมีสายพันธุ์นี้อยู่ได้ การป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรนั้นสำคัญมากครับ
และที่สำคัญที่สุดคือ การทบทวนนโยบายและมาตรการระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการกักตัว 14 วัน การตรวจด้วย RT-PCR ในผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ การขยายศักยภาพของระบบการตรวจ รวมถึงเตรียมทรัพยากรในระบบเพื่อรับมือกับการระบาดที่จะปะทุขึ้นมาจากเดิม