ปลัดมท.มอบนโยบาย ปภ. ย้ำ Change for Good เป็นองค์กรป้องกันภัยบนพื้นฐานหลักวิชาการ
2 ธ.ค. 2564, 17:12
วันนี้ ( 2 ธ.ค.64 ) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 5 อาคาร 3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถ.นครราชสีมา กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการให้กับผู้บริหารและข้าราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายบรรจบ จันทรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมตรวจเยี่ยม โอกาสนี้ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเชษฐา โมสิกรัตน์ นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารส่วนกลาง ผู้ตรวจราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั่วประเทศ ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการตรวจเยี่ยมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับชาวกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือที่ทุกคนจะรู้จักกันในชื่อ “ปภ.” ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในงานด้านการป้องกันก่อนเกิดภัย และบรรเทาเมื่อเกิดภัย ซึ่งการดำเนินงานภารกิจทั้ง 2 ประการนี้จะสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น เราต้องสร้างความแข็งแกร่งขององค์กรด้วยองค์ความรู้ และสืบสานส่งต่อจิตวิญญาณการทำงานจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และอาสาสมัครต่าง ๆ ในทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องสร้างอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ เพิ่มอาสาเลือดใหม่ที่มีคุณภาพ เพื่อเสริมทัพเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการองค์ความรู้และถอดบทเรียน (KM:Knowledge Management) เพื่อให้เป็นองค์กรแห่งความรู้และขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้เป็นองค์กรแห่งความศรัทธา เชื่อถือ เชื่อมั่น ของประชาชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) ต้องระดมความรู้ของคนในองค์กร ให้ความสำคัญและให้น้ำหนักกับ “งานป้องกัน” ให้มากที่สุด มากกว่างานบรรเทาสาธารณภัย เราต้องทำให้เกิดการป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสาธารณภัย และเป็นภัยเฉพาะครอบครัว เฉพาะปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นงานที่เราสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะนำมาซึ่งประสิทธิผลของการระวังภัย ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนมีความตระหนัก (Awareness) อยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับคนอื่นอย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น การติดตั้ง ตรวจสอบสภาพของระบบไฟฟ้าในบ้านให้มีความสมบูรณ์ เพราะถ้าอุปกรณ์ชำรุด เกิดไฟไหม้ ก็ส่งผลให้บ้านเรือนอื่น ๆ ประสบอัคคีภัยไปด้วย การใช้รถใช้ถนนที่มีวินัย เคารพกติกา เคารพกฎหมาย หมั่นตรวจสอบสภาพรถ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุ นอกจากตนเองจะได้รับผลกระทบแล้ว ยังทำให้คนอื่นที่ใช้รถใช้ถนนต้องประสบเหตุไปด้วย ดังนั้น “การป้องกัน” จะทำให้สังคมเกิดความตื่นตัว ซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นด้วย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะเป็นที่รับรู้จากพี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวางขึ้น เพราะการป้องกันภัยมีคุณูปการกับทุกคน ส่งผลให้เมื่อเกิดภัยคนจะไม่ได้รับอันตราย และยังป้องกันไม่ให้เกิดภัยได้
2) พัฒนาระบบเตือนภัย ให้มีความทันสมัย ทันท่วงที น่าใช้งาน โดนใจพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และกว้างขวาง 3) ต้องเสาะแสวงหาสร้างพลังของคนรุ่นใหม่ ระดมสมอง ระดมความคิดเพื่อพัฒนาองค์กร Change for Good ให้องค์กรของพวกเราสามารถทำหน้าที่ในการอำนวยประโยชน์สุขให้กับพี่น้องประชาชนได้มากขึ้นบนพื้นฐานหลักวิชาการ 4) ต้องสื่อสารกับสังคม สื่อสารเพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ในงานที่กำลังขับเคลื่อน ซึ่งทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน ช่วยกันสื่อสาร ช่วยกันเผยแพร่ ภารกิจที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ เพื่อให้เกิดความรับรู้และความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และ 5) ต้องบูรณาการพลังภาคีเครือข่าย ทั้งภาคีเครือข่ายอาสาสมัคร มูลนิธิต่าง ๆ และส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพราะงานของทุกกรม/รัฐวิสาหกิจเป็นงานที่เกื้อกูลงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั้งสิ้น ต้องจับมือกันเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดพลังเครือข่ายที่นำไปสู่การมีจิตอาสาที่มีความรู้ด้านการป้องกันสาธารณภัยได้ นั่นคือ ต้องบรรจุให้มีหลักสูตรการป้องกันสาธารณภัยในโรงเรียนทุกแห่ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายอย่างมีระบบ ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไปสู่การสร้าง “อปพร.” ในสายเลือด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกันเมื่อเกิดภัย พร้อมทั้งเน้นย้ำในการทำหน้าที่ของข้าราชการทุกคนต้องช่วยกันริเริ่ม สร้างสรรค์ พัฒนางาน และทำให้ผู้บังคับบัญชาเชื่อมั่น เชื่อถือ ไว้ใจ และปฏิบัติตามสิ่งที่ได้คิดริเริ่ม เพื่อให้องค์กรเกิดการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ต้องช่วยกัน Change for Good เพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ กับองค์กร อันจะนำมาซึ่งความเพิ่มพูนการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศไทยอย่างยั่งยืน