"ในหลวง ร.10" พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ หลวงพ่อโปร่ง พระเกจิดังชุมพร
4 ก.ย. 2562, 18:56
วันนี้ (4 ก.ย. 62) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เชิญน้ำหลวงสรงศพ พระครูโสตถยาธิคุณ (หลวงพ่อโปร่ง โชติโก) เจ้าอาวาสวัดถ้ำพรุตะเคียน ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งมี พระราชวิจิตรปฏิภาณ เจ้าคณะจังหวัดชุมพร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ รวมถึงมีข้าราชการ ประชาชน และศิษยานุศิษย์ที่เคารพและศรัทธาในหลวงพ่อโปร่ง ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
พิธีการเริ่มจาก เจ้าพนักงานพิธี อัญเชิญกล่องน้ำหลวงเข้าสู่พิธี ซึ่งประกอบด้วย น้ำหลวง น้ำขมิ้นและน้ำอบ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ก่อนบรรจุสรีระสังขารหลวงพ่อโปร่งลงในหีบเชิงชาย โดยจะประกอบพิธีทางศาสนาและพิธีสวดพระอภิธรรม ทางวัด ได้กำหนดให้มีการสวดพระอภิธรรมเวลา 19 นาฬิกาทุกคืน เป็นต้นไป เป็นเวลา 100 วัน ณ วัดถ้ำพรุตะเคียน ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
ทั้งนี้ หลวงพ่อโปร่ง ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ ณ วัดถ้ำพรุตะเคียน ในเวลา 13.00 น. ของวันที่ 2 กันยายน 2562 รวมสิริอายุ 90 ปี อุปสมบทมาพรรษาที่ 44 สำหรับประวัติหลวงพ่อโปร่งโชติโก เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2473 ที่บ้านเลขที่ 63/1 หมู่ 5 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี บิดา-มารดา ชื่อนายเปรื่อง และนางทองหล่อ อยู่กลัด มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 4 คน ตอนเป็นเด็ก ดำเนินชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป เมื่อครั้นอายุ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทตามประเพณี ในช่วงพรรษาแรกไปเรียนกัมมัฏฐานกับหลวงปู่หลิม ที่วัดน้อย ตำบลบ้านโขด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี และได้ลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตฆราวาส หลังจากสึกแล้วท่านก็ไปอยู่ที่หัวหิน มีครอบครัว มีบุตรด้วยกัน 3 คน ต่อมาท่านจึงได้คิดกลับมาอุปสมบทอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2519 ที่วัดนาขวาง ตำบลกาหลง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2519 มีพระครูสมุทรธรรมสุนทร (หลวงพ่อสุด) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์น้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพยนต์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2520 ได้แสวงหาที่ปฏิบัติกรรมฐานเดินทางมาภาคใต้ ที่จังหวัดชุมพร และได้ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อเภา ที่วัดถ้ำเขาพลู อำเภอปะทิว ช่วงออกพรรษาท่านได้จาริกมาที่ถ้ำพรุตะเคียน อำเภอท่าแซะ จนถึงปี 2528 ชาวบ้านจึงสร้างกุฎีให้ 1 หลัง และขออนุญาตเป็นสำนักสงฆ์ จากนั้นก่อสร้างกุฏิบนยอดเขาขึ้นเพิ่มขึ้นมาอีก พ.ศ.2532 ได้เกิดพายุเกย์ขึ้นที่จังหวัดชุมพร ต้นไม้บ้านเรือนพังเสียหายแทบทั้งจังหวัด แต่กุฏิไม้บนยอดเขาของหลวงพ่อไม่เสียหาย เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2533 ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันเริ่มการก่อสร้างศาลาไม้ สร้างพระใหญ่ พร้อมกับการก่อสร้างกุฏิไม้ตามไหล่เขาเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ที่ธุดงค์ได้มาจำวัดช่วงเข้าพรรษา ต่อมาปี 2537 ก็ได้เริ่มก่อสร้างหอระฆังพร้อมกับพระใหญ่ ซึ่งอยู่บนยอดเขา สร้างพระธาตุรัตนเจดีย์บนยอดเขา โดยหลวงพ่อโปร่งได้หล่อพระพุทธะโลกะวิทูเอาไว้ในพระธาตุ ในปี พ.ศ. 2547 ได้จดทะเบียนเป็นวัดโดยถูกต้อง และปี พ.ศ. 2550 เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถขนาดกว้าง 9 เมตรยาว 30 เมตรสูง 60 เมตร หลวงพ่อโปร่งโชติโก ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูโสตถยาธิคุณ เป็นพระเกจิอาจารย์ ที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและยังเป็นพระนักพัฒนา เป็นที่นับถือศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และใกล้เคียง