กรมการแพทย์ แนะ! ให้ "สวมแมสก์ 2 ชั้น" ป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5 - เลี่ยงทำงานกลางแจ้ง
17 ธ.ค. 2564, 11:32
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 กลับมาอีกครั้ง คำว่า PM ย่อมาจากคำว่าอนุภาค และขนาดของอนุภาคนี้จะเล็กถึง 2.5 ไมครอน หรือขนาด 0.0025 มิลลิเมตร เทียบกับเม็ดทราย มีขนาด 60 ไมครอน ซึ่งคงนึกออกว่าขนาดจะเล็กขนาดไหน และด้วยขนาดที่เล็กมากเมื่ออยู่ในอากาศ เราจึงหายใจลึกเข้าไปถึงถุงลมขนาดเล็กในปอด ที่น่ากลัวคือมันสามารถแทรกผ่านผนังถุงลมเข้าไปในกระแสเลือดรอบๆ ถุงลมและกระจายเข้าร่างกายไปอวัยวะต่างๆ ได้โดยเลย
“เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะทำให้เกิดการอักเสบของส่วนต่างๆ เช่น ปอด ผนังเส้นเลือด และอวัยวะต่างๆ ดังนั้น PM2.5 ก็จะทำให้มีทั้งอาการเฉียบพลัน เช่น แสบตา แสบคอ น้ำมูกไหล ผื่นผิวหนัง เหนื่อย มีเสมหะ ไอ ถ้าหายใจเข้าเป็นเวลานานก็จะทำให้มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก จากโรคปอด และโรคของเส้นเลือดหัวใจ มีรายงานว่าทำให้คนเป็นโรคเบาหวานหรืออาการของเบาหวานแย่ลง มีผลต่อการตั้งครรภ์ และที่ร้ายที่สุดคือเป็นโรคมะเร็ง” นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า อนุภาคเหล่านี้มีส่วนประกอบแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด เช่น จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากรถยนต์ส่วนประกอบก็จะเป็นตัวทำละลาย ถ้าเกิดจากการเผาไหม้เช่นการเผาป่า ก็จะเป็นพวก Polyaromatic Hydrocarbon ซัลเฟอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีมลพิษทางอากาศอื่นๆ ปะปนมาร่วมกับ PM2.5 ด้วย
ด้าน นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ในกลุ่มคนทำงานจะสัมผัส PM2.5 ได้ทั้งในและนอกอาคาร โดยเฉพาะในอาคารที่ไม่มีหน้าต่างหรือประตูที่ปิดมิดชิด และอยู่ในบริเวณที่คุณภาพอากาศไม่ดี ส่วนทำงานนอกอาคาร เช่น คนงานก่อสร้าง ตำรวจจราจร คนขับรถประจำทางไม่ปรับอากาศ และผู้โดยสาร ก็จะหายใจมลพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย
“ถ้ามีอาการแสบตา แสบจมูก หรือเจ็บคอ ไอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก จะต้องรีบหลบเข้าอาคาร อาการเหล่านี้จะเป็นชั่วครู่ ถ้าร่างกายแข็งแรงดี เมื่อไม่มีการหายใจเข้าไปแล้ว อาการก็จะดีขึ้น หากเลี่ยงไม่ได้ ควรพยายามทำงานให้เสร็จโดยเร็ว แล้วหลบเข้าในอาคาร
“หากต้องทำงานกลางแจ้ง ใส่หน้ากากที่กรองฝุ่นขนาดเล็กได้ เช่น หน้ากาก N95 ซึ่งในทางปฏิบัติจะทำให้ทำงานลำบากเนื่องจากเวลาออกแรงแล้วหายใจลำบาก จึงอาจใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้นแทน แล้วสังเกตอาการดู” นพ.เกรียงไกรกล่าว
ขณะที่การป้องกันด้วยเครื่องฟอกอากาศก็สามารถช่วยกรอง PM2.5 ได้ การรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอก็ช่วยลดผลต่อสุขภาพจาก PM2.5 ได้ และลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด สูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปอดให้แย่ลง จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร ควรมีการตรวจสมรรถภาพปอดทุกปี ในขณะที่เรายังจัดการสาเหตุไม่ได้จึงควรปฏิบัติตามที่กล่าวไว้
นอกจากนี้ รพ.นพรัตนราชธานี ยังได้จัดตั้งคลินิกมลพิษออนไลน์ สามารถเพิ่มเพื่อนเข้ามาในแอพพลิเคชั่นไลน์บัญชีทางการ เพื่อรับการแจ้งเตือนสภาพอากาศ แบบประเมินอาการตนเอง และมีแพทย์คอยตอบปัญหาในคลินิกตลอดเวลา