อย. เตรียมขึ้นทะเบียน "ซิโนแวค" เป็นวัคซีนเด็กตัวแรกของไทย
18 ธ.ค. 2564, 14:39
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยว่า สำหรับวัคซีนเชื้อตายที่มีการขอขยายกลุ่มอายุการฉีดในเด็กได้ ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังพิจารณาทั้งวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์ม จากข้อมูลการทดลองในเฟส 3 โดยวัคซีนซิโนแวค มีความคืบหน้ามากกว่า เพราะส่งข้อมูลด้านความปลอดภัยวัคซีนมาแล้ว เป็นการศึกษาในหลายพื้นที่ เช่น อินโดนีเซีย ประเทศทางอเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง เรากำลังรอข้อมูลด้านประสิทธิภาพ คร่าวๆ ที่ดูก็ใช้ได้ แต่เราดูละเอียดมากว่าป้องกันการติดเชื้อได้กี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับภูมิต้านทานของร่างกาย ทั้งนี้ เป็นการศึกษาอายุ 3-17 ปี แบ่งเป็นช่วงอายุ 3-5 ปี, 5-12 ปี และ 12-18 ปี ซึ่งเราจะพิจารณาตามอายุ เนื่องจากต้องดูว่าเด็กแต่ละอายุ ต้องใช้ขนาดเท่าไหร่ แล้วผลเป็นอย่างไร
“คล้ายกับไฟเซอร์ที่เขาทยอยทำแล้วขึ้นทะเบียน แต่ซิโนแวคทำการศึกษาย่อยที่ทำพร้อมกันทีเดียวทุกกลุ่มอายุ ต่างจากวัคซีนทางตะวันตก ที่ค่อยๆ ขยับ เพื่อความปลอดภัยในการทดลอง อย่างไรก็ตาม คาดว่าซิโนแวคน่าจะเข้าเป้าเร็วกว่าซิโนฟาร์ม หากดูจากไทม์ไลน์เขา น่าจะส่งข้อมูลให้เราครบถ้วนภายในกลางเดือน ม.ค.65 ทาง อย.เราก็ใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์ในการประเมินก่อนอนุญาตใช้” นพ.สุรโชคกล่าว
เมื่อถามว่าวัคซีนที่ขอขยายช่วงอายุมีการปรับให้รองรับสายพันธุ์โควิด-19 ที่กลายพันธุ์หรือไม่ นพ.สุรโชคกล่าวว่า ส่วนใหญ่บริษัทวัคซีนผลิตจากสายพันธุ์เดิมคือ อู่ฮั่น แต่เมื่อนำไปทดลอง ก็จะพบกับเดลต้าที่ระบาด ส่วนการทดลองในเด็กจะเป็นการเทียบภูมิต้านทานว่าฉีดวัคซีนนี้ได้ภูมิฯ นี้ น่าจะได้ผลป้องกันโรคอย่างไร หรือฉีดในผู้ใหญ่ได้ผลเช่นนี้ เด็กจะได้เท่าไหร่
“หากจะรองรับสายพันธุ์โอไมครอนได้ ก็ต้องรอให้ระบาดเยอะก่อน เพื่อให้มีการทดลอง เนื่องจากแต่ละประเทศฉีดวัคซีนมากแล้ว ถ้าเกิดระบาดก็จะเห็นผลของวัคซีนว่ากันได้เท่าไหร่ อย่างที่บอกว่าอันไหนกันได้ นั่นเกิดจากความคิดของผู้เชี่ยวชาญตามหลักการของเขา แต่ชีวิตจริง (Real World) มันไม่ใช่ ทุกอันต้องฉีดจริง” นพ.สุรโชคกล่าว