"ชลประทาน" ปรับแผนวาง BIG BAG สร้างพนังกั้นน้ำที่พัง ส่วนชาวบ้านพลิกวิกฤตตลาดมูโนะเป็นตลาดน้ำแห่งใหม่
24 ธ.ค. 2564, 12:35
วันที่ 24 ธ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วม จากผลกระทบของมวลน้ำป่าที่เชี่ยวกรากได้พัดพนังกั้นน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณหลังกูโบบูโบะกูแว ม.1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พังเสียหายเมื่อกลางคืนของวันที่ 20 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา และมวลน้ำได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ 2 จุด ของ ต.มูโนะ คือ ตลาดมูโนะ ม.1 และบ้านปรือมง ม.3 ต.มูโนะ นั้น ล่าสุด จากการตรวจสอบปริมาณน้ำท่วมขังบ้านเรือนของประชาชนทั้ง 2 จุด มีปริมาณน้ำท่วมขังลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยภาพรวมมีน้ำท่วมขังโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 40 ซ.ม. จนรถยนต์สามารถผ่านสัญจรไปมาได้ตามเส้นทางได้บางจุด ยกเว้นในส่วนของถนนซึ่งเป็นทางเข้าตลาดมูโนะ ซึ่งอยู่ฝั่ง สนง.อบต.มูโนะ รถเล็กยังสามารถผ่านไปมาได้สัดวก แม้ปริมาณน้ำท่วมขังจะลดลงก็ตาม เนื่องจากมีกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากค่อยๆระบายลงสู่ที่ต่ำ
ด้านนายสหรัฐ เงินสง่า ผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 17 จ.นราธิวาส หลังปริมาณน้ำท่วมขังลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่จุดที่พนังกั้นน้ำพังเสียหาย การนำเครื่องจักรกลไปวาง BIG BAG ยังมีความลำบาก เนื่องจากจุดดังกล่าวจากการเข้าตรวจสอบฐานของพนังกั้นน้ำที่พังเสียหาย โดยระดับรากฐานของพนังกั้นน้ำถึงขอบด้านบนของพนังกั้นน้ำ ยังมีปริมาณน้ำท่วมขังอยู่สูงโดยประมาณ 2.50 ถึง 3 เมตร ซึ่งยากต่อการนำรถแบกโฮและรถ เจ.ซี.บี.ลำเลียงถุง BIG BAG เข้าไปเรียงเพื่อทำเป็นฐานให้รถแบโฮเข้าไปได้ ขึงได้มีการปรับแผนด้วยการเจรจากับผู้ดูแลกุโบบูโบะกูแว เพื่อใช้พื้นที่ข้างกำแพงริมถนนของกูโบบูโบะกูแว ให้รถบรรทุกใช้พื้นที่ดังกล่าวในการบรรทุก BIG BAG มาส่งให้กับรถ เจ.ซี.บี.และรถแบกโฮ ดำเนินการเรียง BIG BAG ทับกันเป็นรูปตัวยู หรือ เกือกม้ากับพนังกั้นน้ำเดิมที่พัง เมื่อแล้วเสร็จจะมีการสูบน้ำด้านในรูปตัวยู หรือ เกือกม้าออก แล้วลำเรียง BIG BAG ซ้อนกันทับให้เต็มก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำพนังกั้นน้ำชั่วคราวแทนของเก่าที่เสียหาย และเมื่อสภาวะน้ำท่วมขังคลี่คลาย เจ้าหน้าที่ก็จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างพนังกั้นน้ำที่ได้มาตรฐานแทนของเก่าที่ชำรุด ซึ่งการวาง BIG BAG คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ถึง 3 วัน
นอกจากนี้ หลังเกิดสภาวะน้ำท่วมขังตลาดมูโนะ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดการค้าชายแดนกับประเทศมาเลเซีย ที่ขึ้นชื่อของอำเภอสุไหงโก-ลก ทำให้ประชาชนในพื้นที่และประชาชนจากพื้นที่อำเภอข้างเคียง ได้เดินทางเข้ามาติดตามสถานการณ์น้ำท่วมต่อวันเป็นจำนวนมาก จนกลายสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ทราบข่าว ต่างนำสินค้าต่างๆ จำพวก ห่วงยาง อาหารปิ้งย่าง ก๋วยเตียว ไอศกรีม ผลไม้ มาตั้งเต้นท์ขายอยู่ในน้ำ จนกลายสภาพเป็นตลาดน้ำไปโดยปริยาย และจากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้าโดยรวม ทุกคนสามารถขายสินค้าได้กำไรต่อวัน ประมาณ 1,000 ถึง 4,000 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณของสินค้าที่นำมาขายในแต่ละวัน