เช็กเลย ! พื้นที่ "โอไมครอน" แพร่ระบาด 37 จังหวัดทั่วไทย สธ. ย้ำ! ยังประมาทไม่ได้
30 ธ.ค. 2564, 16:31
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดที่มีข้อมูลว่าพบการติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย พบการติดเชื้อในประเทศ 357 รายนั้น พบว่ามีจังหวัดที่พบผู้ป่วยเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 จังหวัด จากเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ที่พบ 33 จังหวัด รวมเป็น 34 จังหวัด โดยจังหวัดที่เพิ่มขึ้นคือ จ.เพชรบูรณ์ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะแม้โอไมครอนจะหลบภูมิคุ้มกันได้ แต่วัคซีนยังช่วยลดความรุนแรงได้เช่นกัน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะที่ พบผู้ติดเชื้อครบทั้ง 13 เขตสุขภาพแล้ว โดยกระจายใน 37 จังหวัด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวันที่ 30 ธันวาคม ที่พบ 33 จังหวัด รวมยอดผู้ป่วยโควิด-19 โอไมครอนสะสมทั้งหมด 934 ราย ได้แก่
เขตสุขภาพที่ 1 เชียงราย 1 ราย เชียงใหม่ 7 ราย ลำปาง 1 ราย ลำพูน 4 ราย
เขตสุขภาพที่ 2 เพชรบูรณ์ 1 ราย
เขตสุขภาพที่ 3 พิจิตร 1 ราย
เขตสุขภาพที่ 4 นนทบุรี 22 ราย พระนครศรีอยุธยา 2 ราย
เขตสุขภาพที่ 5 นครปฐม 1 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 4 ราย เพชรบุรี 1 ราย สุพรรณบุรี 2 ราย
เขตสุขภาพที่ 6 ชลบุรี 18 ราย สมุทรปราการ 38 ราย สระแก้ว 1 ราย รอยืนยันข้อมูล 24 ราย
เขตสุขภาพที่ 7 กาฬสินธุ์ 121 ราย ขอนแก่น 12 ราย มหาสารคาม 42 ราย ร้อยเอ็ด 50 ราย รอยืนยันข้อมูล 84 ราย
เขตสุขภาพที่ 8 นครพนม 4 ราย เลย 3 ราย หนองคาย 4 ราย หนองบัวลำภู 1 ราย อุดรธานี 3 ราย
เขตสุภาพที่ 9 ชัยภูมิ 4 ราย นครราชสีมา 5 ราย บุรีรัมย์ 4 ราย สุรินทร์ 5 ราย
เขตสุขภาพที่ 10 มุกดาหาร 1 ราย ยโสธร 1 ราย อุบลราชธานี 4 ราย
เขตสุขภาพที่ 11 กระบี่ 4 ราย ภูเก็ต 104 ราย สุราษฎร์ธานี 20 ราย
เขตสุขภาพที่ 12 ปัตตานี 4 ราย สงขลา 1 ราย
เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร 325 ราย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ข้อมูลในแอฟริกาใต้ว่า โอมิครอนความรุนแรงลดลง และอาจมาแทนที่เดลต้า ข้อมูลดังกล่าวจะส่งผลให้คนประมาท ไม่ป้องกันตัวหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ประมาทไม่ได้ แม้ข้อมูลที่ออกมาจะไปในทางนั้น อัตราการติดเชื้อนอน รพ.น้อยกว่าเดลต้า ภาพรวมก็เห็นชัดว่า ผู้ป่วยหนักลดลง อย่างของไทยเกือบพันรายไม่มีเสียชีวิต มีอาการหนัก 2 คนแต่หายดีแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า ข้อมูลเหล่านี้ต้องใช้เวลา ยังเร็วไป ถ้าจะบอกว่าอันตรายน้อย สิ่งสำคัญขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเช่นเดิม พยายามเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงทั้งหลาย และมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด จะช่วยบรรเทาอาการได้
“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบการรักษาต่างๆ โดยเฉพาะการจัดระบบแยกกักที่บ้าน(Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) โดยเรามีประสบการณ์จากครั้งก่อน ครั้งนี้จะมีระบบติดตามแยกคนติดเชื้อออกจากคนป่วย ใครติดเชื้อไม่มีอาการให้อยู่ HI ถ้าไม่สามารถอยู่ได้ให้เข้า CI โดยจะมีระบบคอยมอนิเตอร์อาการ หากมีอาการมากขึ้นนำส่งรพ.ทันที” นพ.ศุภกิจ กล่าว