มท. ประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติตามมติ ครม. งบแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด ย้ำคำนึงประโยชน์ส่วนรวม
6 ก.ย. 2562, 08:57
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 62 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติตามมติ ครม.ในการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ผู้แทนหน่วยงานส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจในสังกัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมในครั้งนี้ มี นางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง และนางสาวนิรมล พานิชพงษ์พันธุ์ ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณเพื่อการบูรณาการเขตพื้นที่ฯ สำนักงบประมาณ พร้อมคณะ ร่วมประชุมชี้แจงด้วย
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ประธานการประชุม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด โดยให้หารือในรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณค่าใช้จ่ายกับสำนักงบประมาณและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่ง ครม.ได้มีมติอนุมัติในหลักการ (27 สิงหาคม 2562) ให้กระทรวงมหาดไทยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 15,800 ล้านบาท แยกเป็นสำหรับ 74 จังหวัด จังหวัดละ 200 ล้านบาท และสำหรับจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดละ 500 ล้านบาท โดยจังหวัดเป็นหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในเบื้องต้น กระทรวงมหาดไทยได้มีการประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณ หารือแนวทางในการจัดทำแผนงาน/โครงการ ในการแก้ไขและบรรเทาปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับการขอรับการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งได้จัดทำร่างแนวทางปฏิบัติให้จังหวัด เพื่อใช้เป็นกรอบดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด ซึ่งการประชุมในวันนี้ ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องปฏิบัติตามแนวทางของสำนักงบประมาณอย่างเคร่งครัด และสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยโครงการที่ขอใช้งบประมาณนั้น ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน เช่น โครงการที่เกี่ยวกับการสร้างอาชีพ รายได้ การจ้างแรงงาน ตลอดจนการซ่อมแซม ปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำ การขุดเจาะ เป่าล้างบ่อบาดาล ระบบส่งน้ำ ระบบประปา เป็นต้น และต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อม โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอแผนงาน/โครงการผ่านกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 18 เขต (CBO) ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2562 และจะต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 โดยแผนงาน/โครงการจะต้องมีความพร้อมด้านแบบรูปรายการ มีประมาณราคาค่าก่อสร้าง (ปร.4 ปร.5) สถานที่ไม่มีข้อทักท้วง และสามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ทั้งนี้ การดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด โดยพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
จากนั้น เวลา 11.00 น. นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวมหาดไทย ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ประจำปี 2562 ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค จังหวัด และกลุ่มจังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี และสอดคล้องตามมาตรการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ซึ่งผลการใช้จ่ายงบประมาณในภาพรวม ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ร้อยละ 93.57 จำแนกเป็น รายจ่ายประจำร้อยละ 96.53 และรายจ่ายลงทุนร้อยละ 76.25 ซึ่งในที่ประชุมผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ได้รายงานผลการดำเนินงานและความคืบหน้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งได้มีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้การดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งการบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งได้กำชับให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดติดตามโครงการ/งานที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้แต่ละหน่วยงานเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานในช่วงสิ้นปีงบประมาณ เช่น การบันทึกรายการขอเบิกเงิน PO การปรับหมวดรายจ่าย และการเบิกหักผลักส่ง ในระบบ GFMIS รวมถึงการก่อหนี้ผูกพันและลงนามในสัญญาต่างๆ ให้ทันตามห้วงเวลา ตลอดจนการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินงานและบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อีกด้วย