เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เกษตรฯ คลอดมาตรการ 3 ระยะแก้หมูแพง สั่งแผนด่วน "ห้ามส่งออก"


5 ม.ค. 2565, 17:45



เกษตรฯ คลอดมาตรการ 3 ระยะแก้หมูแพง สั่งแผนด่วน "ห้ามส่งออก"




วันนี้ ( 5 ม.ค.65 ) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกณ์กล่าวว่า สั่งการให้อธิบดีกรมปศุสัตว์กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาปริมาณสุกรที่ลดลง แล้วส่งผลให้ราคาจำหน่ายสูงขึ้น โดยต้องมีแนวทางครอบคลุมทุกปัจจัยได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะอาหารสัตว์และยารักษาโรคแพง การพบโรคระบาดในสุกรทำให้ต้องทำลายสุกรเพื่อควบคุมโรค อีกทั้งก่อนหน้านี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อย และรายกลางเกิดความตื่นตระหนกต่อข่าวของการเกิดโรคระบาดในสุกรจึงได้เร่งขายสุกรมีชีวิตออกจากฟาร์ม เมื่อพักคอกแล้ว เกษตรกรรายย่อยและรายเล็กส่วนหนึ่งหยุดเลี้ยงเพราะไม่ได้ปรับระบบการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เพื่อควบคุมโรค จึงเกรงว่า หากสุกรติดโรคระบาดจะเสียหายมาก ส่งผลให้ปริมาณสุกรในระบบการผลิตลดลง แต่ยังความต้องการบริโภคยังสูง

ขณะที่ผู้ค้าปลีกเนื้อหมูในตลาดสดหลายจังหวัด คาดการณ์ในทำนองเดียวกันว่าราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในระยะสั้นนี้ โดยคาดว่าราคาอาจจะเกิน 250 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้



ล่าสุดอธิบดีกรมปศุสัตว์รายงานว่า เตรียมมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวไว้แล้ว โดยจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันโดยเร็ว

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสุกรสูงขึ้น 3 ระยะคือ

1. มาตรการระยะด่วนได้แก่
- ห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อสุกรภายในประเทศให้มากขึ้น 
- ช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี 
- จัดสินเชื่อพิเศษของธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้ กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ
- ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น
- เร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกรเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม
- เพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทนโดยให้เกษตรกรใช้สุกรขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราว
- เร่งรัดเจรจาฟาร์มรายใหญ่ในการสรรและกระจายพันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยและเล็กที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่
- กำหนดโซนเลี้ยงและออกมาตรการบังคับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค
- เร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค


2. มาตรการระยะสั้นได้แก่
- ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
- ขยายกำลังผลิตแม่สุกรสนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน
- ศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด

3. มาตรการระยะยาวได้แก่
- ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชอื่น แล้วส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้า หรือส่งเสริมการผลิตข้าวโพดในฤดูแล้งให้มากขึ้น
- ยกระดับมาตรการปรับปรุงระบบ Biosecurity ในการเลี้ยงสุกรให้เป็น GAP หรือ GFM ซึ่งจะป้องกันโรคได้ดีขึ้น
- ใช้ยุทธศาสตร์การควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เพื่อส่งเสริมการส่งออกสุกรไปต่างประเทศ
- ใช้ระบบการติดตามการเคลื่อนย้ายสุกร Tracking Smart Logistics 
- ศึกษาและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์สุกรให้ได้สุกรพันธุ์ดีและทนทานต่อโรคระบาด
- ศึกษาและพัฒนาการลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรทั้งวงจร

ทั้งนี้กรมปศุสัตว์จะเร่งหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากราคาเนื้อสุกรสูงขึ้นโดยเร็วที่สุด

สำหรับการประเมินจำนวนสุกรทั้งประเทศในปี 2564 จากการขออนุญาตเข้าฆ่าและส่งออกพบว่า รวมสุกรขุนทั้งประเทศ 19.27 ล้านตัวแบ่งเป็น สุกรเข้าฆ่า 18.29 ล้านตัวและส่งออก 0.98 ล้านตัว หรือลดลงร้อยละ 13






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.