นายกฯ เปิดตึกไทยคู่ฟ้า ร่วมพบปะพูดคุยตัวแทนเยาวชนดีเด่น เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ
8 ม.ค. 2565, 11:19
วันที่ 8 มกราคม 2565 ในรายการกิจกรรมงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2565 ทำเนียบรัฐบาล ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พาตัวแทนเด็กเยาวชน 5 คน นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กและเยาวชนในอนาคต พร้อมทั้งได้นั่งพูดคุยกับเด็กเยาวชนถึงความสนใจในด้านต่าง ๆ และความใฝ่ฝันถึงอาชีพที่อยากทำในอนาคต ได้แก่ ด.ญ.เพชร เพชรทอง อยากเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียง ด.ญ.มลธนัช เผื่อนประเสริฐสุข ที่ชื่นชอบกีฬายิงปืน ด.ญ. ภูวริศา อมาตยกุล อยากเป็นนักธุรกิจ นายปุณณานนท์ ตรีวรรณกุล ที่อยากนำผ้าไทย วัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ให้เป็นสากล นายกรัฐมนตรียังชื่นชมความสามารถในการคิดเลขของ ด.ช.ปองคุณ บุญเกตุ พร้อมอวยพรขอให้เรียนวิชาที่ชอบอย่างสนุก ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และขอให้ทุกคนมีความฝัน มีความตั้งใจในสิ่งที่อยากทำ ตั้งเป้าอนาคตของตนเอง ค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบเพราะอาจมีหลากหลายด้าน ขอให้มีความกตัญญูรู้คุณต่อบิดา มารดา เพื่อที่ได้เป็นหนึ่งในพลังการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าด้วยกัน
จากนั้น ณ ตึกภักดีบดินทร์ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมพบปะและพูดคุยกับตัวแทนเด็กนักเรียนเยาวชนดีเด่นจากหลายสถานศึกษา อาทิ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีความประพฤติดีและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติในด้านวิชาการ ด้านศิลปวัฒนธรรม และการกีฬา รวม 19 คน โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยินดีที่ได้พบกับลูกหลานทุกคน ซึ่งการพบปะในครั้งนี้เป็นการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่า คนรุ่นกลาง และคนรุ่นใหม่ แต่เราก็เป็นคนยุคเดียวกัน และขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของทุกคนที่ได้เป็นตัวแทนของเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติของเรา รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่อุทิศต่อการทำงานเพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวม ดังคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปีนี้ว่า “รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม” ซึ่งหมายถึง คิดจะทำอะไรก็ต้องรอบคอบ และที่สำคัญที่สุดนอกจากตัวเราและครอบครัวแล้ว ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะเราคือส่วนหนึ่งของประเทศไทย ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แผ่นดิน ผืนน้ำ ป่าไม้ ภูเขา ทั้งนี้ ความสำเร็จต่าง ๆ ของทุกคนก็เป็นเครื่องยืนยันว่าคนไทยเราไม่น้อยหน้าไปกว่าใคร จากสถิติการไปแข่งขันในหลายประเภทก็ได้รับรางวัลในหลายสาขา ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทุกคนจะสร้างชื่อเสียง สร้างอนาคตให้กับประเทศไทยในเรื่องของการพัฒนา ความก้าวหน้า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็ยินดีที่จะสนับสนุนทุกกิจกรรมของเยาวชนไทยให้เป็นคนเก่ง มีคุณธรรม และมีจริยธรรม พร้อมยินดีที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำงานของรัฐบาล เพื่อจะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศของเราไปในทางที่ดีขึ้น หน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย ความมีเสถียรภาพ การเคารพกฎหมาย และยึดถือ ยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขอให้ทุกคนต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนานด้วย
นางสาวณัฐนรี ศรีอภิรัฐ ตัวแทนเยาวชนจากวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน กล่าวถึงการอยากศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ยังมีบางคณะ บางสาขา และหลายมหาวิทยาลัยของรัฐ กำหนดคุณสมบัติไม่รับวุฒิ ปวช. จึงอยากขอให้เปิดโอกาสนักเรียนวุฒิ ปวช. ได้ทำตามความฝัน ได้มีสิทธิ์ ได้สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ปัจจุบันที่นั่งของมหาวิทยาลัยมีมากกว่านักเรียนที่เข้าสอบ แปลว่ามหาวิทยาลัยยังรองรับได้อยู่ เพราะเด็ก ปวช. ทุกคนเทียบเท่า ม.6 อยู่แล้ว อาจให้มีการลองไปปรับสาขาหรือระบบว่าต้องรองรับอย่างไร สิ่งที่มีอยู่แล้วเดิมคือหน่วยกิตที่ให้ตรงกับสาขาการรับตรง หรือถ้าเป็นระบบสอบก็ให้เป็นการสอบที่ใช้ข้อเขียนเป็นหลัก เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลคือให้ทุกคนสามารถเรียนอะไรก็ได้ ขอฝากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปดูระเบียบต่าง ๆ ด้วย
นางสาวลิตา ตันติประภาส ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวถึงกรณีปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน ที่มีปัญหาจากความเครียดและการเข้าสังคม และอยากให้นายกรัฐมนตรีส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตในแต่ละโรงเรียน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ส่งผลให้มีการบ้านเยอะ พักผ่อนน้อย ซึ่งได้ให้มีการปรับกระบวนการการสอบวัดผลไปบ้างแล้ว และมุ่งเน้นการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จัดการเรียนการสอนแบบ On Demand ทบทวนกลุ่มสาระวิชา ให้เด็กสามารถเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำให้ประสานสอดคล้องกันตั้งแต่เด็กประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังแนะให้กระทรวงศึกษาธิการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มีการเข้ามาพูดคุยกับเด็ก ๆ เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาความเครียด โรคซึมเศร้า อีกด้วย
นายวัตร แสงหงส์ ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรม กล่าวขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยผลักดันระบบอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ต้องกลับไปเรียนออนไลน์ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ปรับหลักสูตรพัฒนาครูให้สามารถเรียนออนไลน์ได้ รวมถึงมอบหมายให้ กสทช. ดูแลในด้านค่าใช้จ่ายตามงบประมาณ และขอให้นักเรียนทุกคนมีสมาธิเมื่อเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน คอยปรึกษาเพื่อน หรือการเรียนรู้ในชุมชนด้วยกัน
นางสาวอมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน กล่าวถึงความสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมภูมิอากาศ และอยากให้การศึกษาในระบบที่จะสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับ Climate Change เข้าไปในแต่ละวิชา และเน้นการลงมือทำในการศึกษานอกระบบ ลงมือแก้ไขแบบ Project-based พร้อมส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย และอยากให้ภาครัฐและประชาชนร่วมกันสร้างสังคม Zero Waste ไปด้วยกัน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญเพราะคืออนาคตของลูกหลานพวกเรา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุม COP26 มา และได้จัดทำแผนแม่บทไว้แล้ว โดยได้กำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม และในเรื่องของการเรียนรู้ ต้องมีเรียนรู้นอกจากตำรา หรือ Active Learning คือไปศึกษาเรียนรู้แล้วปฏิบัติจริง สิ่งสำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ชุมชนของตัวเอง รู้จักบ้านตัวเอง รู้จักตำบล อำเภอ ชุมชน หมู่บ้านตัวเอง
นางสาวพัทธ์ธีญา ยงค์สงวนชัย ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนนานาชาติไทยจีน กราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น แล้วก็จะส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม โดยยังมีโรงงานหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบทางลบต่อประชาชน ทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจสังคม อยากให้ชาวบ้านได้รับการเยียวยาและธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลได้มีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องเริ่มจากตัวเราทุกคน ควรเริ่มต้นโดยการให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ นายกรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการใช้ถ่านหิน แต่ปัจจุบันถ่านหินลดลง ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ เครื่องจักร และปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงานที่เหมาะสม มุ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และดำเนินการเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้วัสดุทางการเกษตรเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เพื่อกำจัดวัชพืช และปลูกพืชที่สามารถเป็นพลังงานได้ รวมถึงปรับเปลี่ยนการทำเกษตรไปด้วยเช่นกัน
นางสาวอภิญญา เจียมศักดิ์ ตัวแทนเยาวชนจากโครงการเด็กอวด (ทำ) ดี ได้สรุปโครงการจิตอาสาที่เด็กและเยาวชนได้ร่วมกันทำในทำนองเพลงพื้นบ้านโบราณของไทยเพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้รับฟัง
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีแนะให้เด็กและเยาวชนค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมโดยการอ่านหนังสือ แสวงหาความรู้จากการปฏิบัติจริงในสังคม ขอให้ทุกคนรักประเทศไทย นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบปะและรับฟังความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ และคอยติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่านทางโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ