เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"นครพนม" พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 60 ราย


8 ม.ค. 2565, 11:44



"นครพนม" พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 60 ราย




วันที่ 8 มกราคม 2565 ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า พบผู้ป่วยเพิ่มจำนวน 60 ราย แยกเป็นติดเชื้อในพื้นที่ จำนวน 49 ราย ติดเชื้อนอกพื้นที่ 11 ราย ได้แก่ 1.กทม. 4 ราย 2.ชลบุรี 3 ราย 3.สกลนคร 2 ราย 4.กาฬสินธุ์ 1 ราย และ 5.เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 5,469 ราย เสียชีวิตสะสม 28 รายเท่าเดิม

ทั้งนี้ เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทย ณ ขณะนี้ ในจังหวัดนครพนมพบผู้ป่วยสายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว 37 ราย โดยกระจายไปหลายอำเภอ ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อโอมิครอนจะมีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่พบในจังหวัดขอนแก่น และ จังหวัดอุบลราชธานี แต่ที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ในอำเภอนาแก โดยหมู่บ้านนี้อยู่ติดกับอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งพบผู้ป่วยแล้ว 50 ราย เป็นคลัสเตอร์หมอลำคณะดังที่ไปเปิดทำการแสดงในพื้นที่อำเภอดงหลวง โดยคนในหมู่บ้านชักชวนกันไปชมและได้รับเชื้อมาแพร่ในชุมชน ส่วนคลัสเตอร์งานบวชบ้านหนองยาว ต.คำเตย อ.เมืองนครพนม ชุดปฏิบัติการสามารถควบคุมอยู่ในวงจำกัดเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม จะแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม ในช่วงบ่ายของวันนี้

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโดยรวมของประเทศไทย วันที่ 8 มกราคม 2565 พบผู้ป่วยใหม่ 8,263 ราย  สะสม 2,253,513 ราย เสียชีวิต 14 ราย สะสม 21,813 ราย อยู่อันดับ 25 ของโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เป็นไปตามความคาดการณ์ของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เปิดเผยก่อนเทศกาลปีใหม่ 2565 ว่า หลังปีใหม่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจมีการติดเชื้อถึง 3 หมื่นคน/วัน และเสียชีวิต 170-180 คน/วัน “เป็นการคาดการณ์ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด คือ มีการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้น้อยหรือไม่ปฏิบัติเลย แต่หากปฏิบัติตามมาตรการ ทั้งการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา (Universal Prevention) และมาตรการ VUCA ร่วมกับเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มากกว่าปกติ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ก็จะสามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศได้ดี ผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่สามารถดูแลได้ เป็นไปตามสถานการณ์ที่ดีที่สุดที่คาดการณ์ไว้” นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข



ขณะเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า โอมิครอนที่กำลังระบาดในประเทศไทยขณะนี้ กำลังเริ่มต้นระลอกที่ 5 โดยการระบาดในประเทศไทยที่ผ่านมา สามารถเรียงลำดับ ดังนี้

การระบาดระลอกแรก เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมและเมษายน 2563  เกิดเริ่มต้นที่สถานบันเทิงทองหล่อและสนามมวย สายพันธุ์ที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ S หรืออู่ฮั่นดั้งเดิม

ระลอก 2  เกิดที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครในกลางเดือนธันวาคม พบมากในแรงการต่างด้าว การระบาดเป็นสายพันธุ์ G หรือ GH

การระบาดระลอก 3  เกิดขึ้นที่สถานบันเทิงทองหล่อ เป็นการนำเข้าสายพันธุ์อังกฤษหรือแอลฟา ในปลายเดือนมีนาคม พ. ศ. 2564  การระบาดด้วยสายพันธุ์อังกฤษนี้ทำทีท่าจะดีขึ้นและเริ่มจะลดลง ดังแสดงในรูป ก็เกิดการระบาดระลอก 4 ซ้อนขึ้นมา โดยสายพันธุ์เดลต้า ที่พบในหมู่คนงานก่อสร้าง การระบาดครั้งนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม แล้วจึงค่อยๆลดจำนวนลงอย่างช้าๆ

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อมาอยู่ที่หลักประมาณ 3,000 คน ก็เริ่มมีการระบาดหลังปีใหม่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอน จึงถือเป็นการระบาดระลอกที่ 5  และในการระบาดครั้งนี้ จะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว น่าจะมากกว่าสายพันธุ์เดลต้า เพราะติดง่ายกว่า อัตราการเพิ่มขึ้นจะเป็นหลักหมื่นต่อวันอีกครั้งหนึ่ง จุดสูงสุด จะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับทุกคน ที่จะต้องช่วยกัน







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.