โฆษกรัฐบาลขอบคุณคนไทย เชื่อมั่นมาตรการ-ระบบสาธารณสุขรับมือ "โอมิครอน" ได้
14 ม.ค. 2565, 17:58
วันนี้ ( 14 ม.ค.65 ) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยกับการรับมือโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 40.03% พึงพอใจต่อมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล และ 66.97% พอใจในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ ขณะที่ 68.95% ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความเข้มงวดและรัดกุมในการตรวจสอบโรคโควิด-19 กับผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลสำรวจนี้ เป็นข้อมูลและแนวทางในการ วางแผนดำเนินการ เพื่อตรงกับความต้องการของประชาชนต่อไปด้วย
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือ “นิด้าโพล” สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยกับการรับมือโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ระหว่างวันที่ 20-23 ธ.ค.64 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,314 หน่วยตัวอย่าง โดยความพึงพอใจต่อมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 40.03% ค่อนข้างพึงพอใจ ที่รัฐบาลได้ทำการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง มีระบบการจัดการที่ดี มีมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด และประชาชนอีก 16.97% ยังได้ระบุว่า พึงพอใจมาก ขณะที่มีเพียง 28.08% ระบุว่า ไม่ค่อยพึงพอใจ เพราะ การผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้าและ 14.92% ระบุว่า ไม่พึงพอใจเลย
นายธนกร กล่าวว่า ผลสำรวจมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่สำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 66.97% พอใจในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ รองลงมา 46.27% ระบุว่า การจัดหายารักษาโรคโควิด-19 ที่มีคุณภาพ 28.39% ระบุว่า การอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถสั่งซื้อหรือนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ขณะเดียวกัน 26.71% ระบุว่า การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วย และ 25.42% ระบุว่า การออกกฎ ข้อบังคับให้ทุกคนในประเทศต้องฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้น
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการด้านการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ พบว่า 68.95% ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความเข้มงวดและรัดกุมในการตรวจสอบโรคโควิด-19 กับผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รองลงมา 38.81% ให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงแก่ผู้ลักลอบขนแรงงานต่างชาติตามชายแดน ขณะที่ 31.51% ระบุว่า การปิดประเทศจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ได้ 20.24% ระบุว่า ให้ประกาศจำกัดการเดินทางภายในประเทศทันทีที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ภายในประเทศ และ 18.87% ระบุว่าควรจำกัดสิทธิของผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนในการเข้าถึงบริการของรัฐ และการออกไปในพื้นที่สาธารณะ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ผลสำรวจยังได้รายงานถึงวิธีการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประชาชนระบุว่า ประชาชน 94.67% สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ รองลงมา 76.79% ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 65.07% ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 41.32% หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง และ 36.53% เว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เป็นต้น ทั้งนี้ผลสำรวจการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลล่าสุดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อมั่นและพึงพอใจในการทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 พร้อมให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลพร้อมทำงานอย่างหนักต่อไป เพื่อบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ให้ดีที่สุด ทั้งมาตรการควบคุม แผนจัดหาและเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ควบคู่ไปกับมาตรการเยียวยาต่าง ๆ
สำหรับรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 14 มกราคม 2565 พบ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มวันนี้ 8,158 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อใหม่ 7,916 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 242 ราย ผู้ป่วยสะสม 85,180 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 3,942 ราย หายป่วยสะสม 43,428 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 74,795 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย