"หมอธีระ" เผยอาการคงค้าง ผลกระทบระยะยาวในผู้ป่วยโควิด-19
15 ม.ค. 2565, 13:27
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat มีเนื้อหาดังนี้
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,924,753 คน ตายเพิ่ม 6,532 คน รวมแล้วติดไปรวม 320,352,433 คน เสียชีวิตรวม 5,537,649 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี และสเปน
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.39 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 87.27
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 41.32 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 49.2
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก
อัพเดตงานวิจัย
1. พบความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโควิด-19 อาการน้อยถึงปานกลางที่เป็น Long COVID นานถึงอย่างน้อย 8 เดือน Phetsouphanh C และคณะจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ออสเตรเลีย เพิ่งเผยแพร่งานวิจัยใน Nature Immunology เมื่อวานนี้ 13 มกราคม 2565
จากความสนใจว่าอาการคงค้างที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เรารู้จักกันในชื่อ Long COVID นั้นมีอาการแสดงได้หลายระบบในร่างกาย รวมถึงระบบประสาทและภาวะทางจิตใจและอารมณ์ หลายอาการคล้ายกับภาวะที่พบหลังจาก SARS และ MERS ซึ่งมักพบในคนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการน้อยถึงปานกลาง ทีมวิจัยจึงศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยและปานกลาง และพบว่าแม้จะรักษาหายจากโควิดตอนแรกแล้วนานถึง 8 เดือน กลุ่มคนที่มีอาการคงค้างเป็น Long COVID ก็ยังมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถตรวจพบได้อยู่
นี่จึงตอกย้ำความสำคัญให้เราตระหนักว่า การติดเชื้อนั้นไม่ใช่รักษาแล้วจบ ยังสามารถทำให้เกิดผลกระทบตามมาในระยะยาวของระบบต่างๆ ในร่างกายด้วย โดยภาวะ Long COVID นั้นเกิดได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก แม้โอกาสเกิดในเด็กจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ก็ตาม การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ติดเชื้อ ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
2. Huang J Sr. และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Lanzhou ประเทศจีน เผยแพร่งานวิจัยใน medRxiv วันที่ 13 มกราคม 2565 ทำโมเดลคาดการณ์การระบาดของ Omicron และนำเสนอผลคาดการณ์ว่า หลังจากระบาดหนักต้นปีนี้ อาจมีการปะทุขึ้นมาในประเทศแถบซีกโลกเหนือราวเดือนเมษายน และซีกโลกใต้ราวเดือนมิถุนายน แต่การปะทุจะไม่สูงนัก
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป เพราะมีหลายปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อการระบาดของทั่วโลก ทั้งสายพันธุ์ไวรัส ผลลัพธ์ของการควบคุมป้องกันโรคในรอบต้นปีนี้ รวมถึงนโยบายต่างๆ ของแต่ละประเทศที่จะส่งผลต่อความเสี่ยงในการระบาดซ้ำ และพฤติกรรมการป้องกันตัวของประชาชนในแต่ละพื้นที่