"สมาชิกวุฒิสภา" ลงพื้นที่พบประชาชน ติดตามปัญหาการบริหารจัดการน้ำ - ถนนชำรุด
7 ก.ย. 2562, 08:23
วันที่ 6 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลโทจเรศักดิ์ อานุภาพ นำสมาชิกวุฒิสภา รวม 19 คน อาทิ นายจรินทร์ จักกะพาก อดีต ผวจ.สกลนคร พลเอกสนธยา ศรีเจริญ , นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ , นายคำนูน สิทธิสมาน , พลเอก ประสาท สุขเกษตร ,พลเรือเอก อิทธิคมน์ ภมรสุต , พลเอก วิรัณ ฉันทศาสตร์โกศล, นายเกียว แก้วสุทอ , รศ.ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร ฯ ลงพื้นที่พบปะประชาชน ตามโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน เพื่อรับทราบปัญหาและนำเข้าสู่กระบวนการแก้ไข ทั้งนี้ ได้แบ่งคณะออกพบประชาชนเป็น 8 คณะ ซึ่งคณะนี้ดูแลภาคอีสานตอนบน ประกอบด้วย จ.บึงกาฬ จ.เลย จ.หนองคาย จ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี จ.มุกดาหาร จ.สกลนคร จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ด
ซึ่ง จ.สกลนคร เป็นจังหวัดนำร่อง กำหนดวันที่ 4-6 กันยายน 2562 โดยวันนี้ ได้ออกเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ประมงน้ำจืดที่บ้านหนองโจด ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน ,เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงแม่เพื่อผลิตลูก ตามโครงการธนาคารโคกระบือ บ้านท่าลาด ต.ไฮหย่อง , เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมคราม บ้านสงเปลือย ต.ไฮหย่อง, เยี่ยมชมกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ที่บ้านฝั่งแดง ต.ไฮหย่อง, โดยพลโท จเรศักดิ์ อานุภาพ ได้กล่าววัตถุประสงค์ของโครงการ บทบาทหน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ นายจรินทร์ จักกะพาก กล่าวถึงหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาในการปฏิรูปประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตลอดจนการติดตามการบังคับใช้กฎหมาย จากนั้นได้เดินทางไปที่บ้านขัวก่าย ต.ขัวก่าย อ.วานรนิวาส เพื่อแจกจ่ายถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยจากพายุโพดุลและพายุคาจิกิ
พลโท จเรศักดิ์ อานุภาพ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตลอดทั้ง 3 วัน ได้รับทราบปัญหาที่แตกต่างกันไป เช่น ความต้องการให้มีการบริหารจัดการน้ำที่ลุ่มน้ำสงคราม เนื่องจากในหน้าฝนจะมีน้ำมากแต่พอถึงหน้าแล้งกลับไม่มีน้ำ จึงต้องการสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องถนนเป็นหลุมเป็นบ่อชำรุดเสียหาย ปัญหาชาวบ้านหลายอำเภอไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่อยู่อาศัย ปัญหาเรื่องคัดค้านการยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาอุทกภัย ปัญหาภัยแล้ง และอื่นๆ ซึ่งจะได้รวบรวมปัญหาเหล่านี้ เข้าสู่คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ถูกจุด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้จะเกาะติดพื้นที่ภาคอีสานตอนบนในระยะ 4-5 ปี