"หมอประสิทธิ์" ชี้ ! "โอไมครอน" ใกล้เข้ามาแทนที่เดลต้า แนะ! ปชช.ฉีดบูสเตอร์โดสเข็ม 3- 4 ลดอาการรุนแรง
25 ม.ค. 2565, 13:55
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงอัพเดตสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จากทั่วโลกในช่วง 2 เดือนหลังการเริ่มแพร่ระบาด การรับวัคซีน และการใช้ยารักษา และข้อแนะนำการใช้ชีวิตในยุคเน็กซ์ นอร์มอล (NEXT Normal) ว่า หลังจากองค์การอนามัยโลกประกาศเรื่องสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ในช่วงเวลานั้น ทั่วโลกตื่นตระหนกเพราะข้อมูลที่ได้จากแอฟริกาใต้พบการกลายพันธุ์ถึง 32 จุด ที่อาจเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ซึ่งหากมีความรุนแรงมากขึ้นด้วยก็หมายถึงว่า วิกฤตโควิด-19 จะถูกเร่งขึ้นอย่างมากมาย แต่ขณะเดียวกัน ถ้ารุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดิมเช่นเดลต้าจริง อาจส่งสัญญาณอะไรบ้างอย่างให้ชาวโลก
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา พบว่า โอมิครอนกำลังไปรุนแรงมากในทวีปยุโรป รองมาคือ ทวีปอเมริกา ซึ่งโอมิครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักใน 2 ทวีปนี้ และพบเดลต้าน้อยลง ขณะที่ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในทวีปตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบโอมิครอนขึ้นมาบ้าง ส่วนทวีปเวสเทิร์นแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ก็พบว่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่พบว่าทวีปแอฟริกาเริ่มสงบลง ผ่านจุดสูงสุดและกำลังอยู่ช่วงขาลงแล้ว
แต่ละทวีปทั่วโลกส่วนใหญ่แล้วอยู่ในขาขึ้นของโควิด-19 เกิดจากผลของโอมิครอนเป็นหลัก ซึ่งที่ทั่วโลกไม่คิดมาก่อนหลังจากผ่านคลื่น 1, 2, 3 แล้วจะพบคลื่นที่เพิ่มขึ้นเยอะมาอีก ซึ่งคิดภาพว่า หากมีความรุนแรง จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ แต่เชื่อว่าตอนนี้เราโชคดี” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า ข้อมูลองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 พบว่าอัตราติดเชื้อโควิด-19 ของโลกหลังพบโอมิครอน จากเดิมเดลต้าพบติดเชื้อวันละหลักแสน เกือบๆ ล้านราย ก็พอเจอโอมิครอนก็พบสูงถึงวันละ 2-3 ล้านราย ซึ่งไม่เคยเจอในการระบาดของสายพันธุ์อื่นๆ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนอัตราเสียชีวิตใกล้เคียงเดิม เฉลี่ยวันละ 4-8 พันราย แต่หากเทียบสัดส่วนกับจำนวนติดเชื้อที่สูงขึ้น ก็จะพบว่า การเสียชีวิตไม่ได้พุ่งตามจำนวนติดเชื้อ ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก สะสม 9,911 ล้านโดส ครอบคลุมเกือบ 8 พันคนของประชากรโลก เฉลี่ยฉีดวันละ 36 ล้านโดส ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนมากพอสมควร ประชากรรวม 334 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มแรก 3 ใน 4 ของประชากร ประมาณ 2 ใน 3 ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว และ 1 ใน 4 ได้รับการฉีดกระตุ้น ขณะที่ กราฟติดเชื้อหลังจากพบโอมิครอน ตัวเลขพุ่งขึ้นชัดเจน มากกว่าระลอกอื่นๆ
ส่วนประเทศไทยในการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ถือว่าบริหารจัดการได้ดี เคยมีผู้ติดเชื้อขึ้นไป 2 หมื่นกว่ารายต่อวัน แล้วค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ จากนั้น เชื้อโอมิครอนก็เข้ามา แต่ตัวเลขการติดเชื้อค่อนข้างเป็นเส้นตรง ติดเชื้อวันละ 7-8 พันราย อัตราเสียชีวิตค่อนข้างดี หลัก 20 รายต่อวัน ส่วนการฉีดวัคซีนก็ฉีดไปแล้วกว่า 110 ล้านโดส ประชากร 70 ล้านคน โดย 3 ใน 4 ฉีด 1 โดส และเกือบร้อยละ 16 ที่ฉีดเข็มที่ 3 แล้ว ดังนั้น ถือว่าเราไม่ด้อยในการจัดการโควิด-19
ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อมูลจริงที่ได้จากการระบาดของโอมิครอนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา คือ ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงไปถึงปอด ทำให้อาการไม่รุนแรง เสียชีวิตน้อยกว่าเดลต้า แต่การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ไอจามบ่อยจึงแพร่เร็วกว่าเดลต้า โดยที่ปริมาณไวรัสไม่จำเป็นต้องเยอะ อาการน้อยกว่า ดังนั้น ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้ตั้งยุทธศาสตร์ว่า หากติดเชื้อไม่มีอาการให้เก็บตัวอยู่ที่บ้าน ผ่านไป 2 สัปดาห์ก็หาย และเกิดภูมิคุ้มกัน การเข้าโรงพยาบาลต้องอาการรุนแรง นอกจากนี้ ยังพบโอมิครอนหลบภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้ติดเชื้อซ้ำได้ ย้ำว่า ไม่สามารถเอาอาการที่แสดงออกมาจำแนกว่าเป็นสายพันธุ์ไหนได้ แต่อาการที่พบว่าแตกต่างจาก เดลต้า คือ โอมิครอน จะมีน้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดตัว ไอ จาม แต่ไม่ค่อยมีไข้ หรือไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ในเวลานี้ใกล้ที่โอมิครอนจะชนะศึกกับเดลต้าแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนยังเป็น ร้อยละ 85 กับ ร้อยละ 15 แต่ปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้าจะเป็นโอมิครอนทั้งหมด
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การศึกษาที่ลอนดอนพบว่า ภูมิคุ้มกันที่จะลดการติดเชื้อ ลดความรุนแรงได้ต่อเมื่อฉีด 3 เข็ม ส่วนการฉีด 2 เข็ม นับว่าเป็นการฉีดวัคซีนพื้นฐาน ส่วนระยะห่างจากเข็มที่ 2 อยู่ที่ 3 เดือน ตัวเลขนี้มาจากการวิจัยที่พบระดับภูมิลดลง แต่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บอกว่าเราต้องฉีดกันทุก 3-4 เดือน ดังนั้น อย่าเพิ่งคิดแบบนั้น ต้องติดตามสถานการณ์ไวรัสต่อไป เชื่อว่า 3-4 เดือน จะมีวัคซีนรุ่นที่ 2 ออกมา ต้องดูว่าจะมีผลบวกอะไรที่เพิ่มจากรุ่นแรก
ขอให้ประชาชนฉีดเข็มที่ 3 แต่ จากเข็มที่ 3 ไปเข็มที่ 4 เข็มที่ 5 นั้น ยังต้องติดตาม แต่ยกเว้นบุคลากรการแพทย์ที่มีความเสี่ยงมาก ส่วนอาการลองโควิด (Long Covid) ซึ่งพบกว่า 50 อาการ แต่ยังนิยามไม่ชัดว่าจะต้องอยู่นานเท่าไหร่ อย่างมีงานวิจัยว่าฉีดวัควันครบจะลดอาการเหล่านี้ ร้อยละ 50 และไม่แตกต่างในแต่ละสายพันธุ์ โควิด-19 สอนเราว่าทั่วโลกต้องร่วมมือกันจึงจะชนะโอมิครอนได้ ประชากรโลกต้องได้ฉีดวัคซีนกันครบ ไม่ใช่ฉีดเฉพาะประเทศที่มีเศรษสถานะร่ำรวย แล้วการหวังภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ ซึ่งมีคนคิดแบบนี้จริงๆ มองว่าเมื่ออาการไม่รุนแรง ติดเชื้อก็ไม่เป็นอะไร เลยไม่ฉีวัคซีน อย่าคิด และอย่าทำแบบนั้น ถ้าได้รับเชื้อแล้วไม่แน่ว่าจะรอดหรือไม่รอด และอาจจะเอาเชื้อไปสู่ผู้ใหญ่ที่บ่าน หากเกิดอะไรขึ้นท่านจะเสียดาย นี่ไม่ใช่ช่วงการจะทำอย่างนั้น
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า การที่โอมิครอนกระจายเร็วแทนที่สายพันธุ์อื่น แต่ตัวมันรุนแรงน้อยกว่า ดังนั้น ชี้ว่าเรามีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงท้ายการระบาดของโอมิครอน ติดเชื้อมากแต่ไม่เสียชีวิตก็เกิดภูมิคุ้มกัน สุดท้ายจะไปสู่ระยะท้ายของโอมิครอน แต่อย่าหวังภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ ดีที่สุดคือ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ทั้งนี้ แม้รู้จักมา 2 เดือน แต่อาจจะยังมีอะไรที่ยังไม่รู้ เร็วเกินไปที่จะเอาการ์ดลง ต่างประเทศคิดว่าโควิด-19 ยังอยู่ไปอีกถึงกลางปีหรือปลายปี ในส่วนของประเทศไทย เราคงไม่กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนช่วงก่อนการระบาด แต่ให้ใช้ชีวิตปกติรูปแบบใหม่ คือ ล้างมือบ่อยๆ มีพฤติกรรมสุขภาพดีขึ้น ซึ่งวิถีใหม่นี้จะทำให้เราสามารถรับมือกับโรคระบาดใหม่ได้