คกก.อาหารแห่งชาติ ผ่านร่างแผนปฏิบัติการจัดการด้านอาหารของไทย ระยะ 1
26 ม.ค. 2565, 17:27
วันนี้ ( 26 ม.ค.65 ) น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้มอบหมายให้นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ นายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่1 (พ.ศ. 2566 - 2567) ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการ ระยะเวลา 5 ปี ที่อ้างอิงตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2561 - 2580) ระยะ 20 ปี ที่มุ่งการเชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอาหาร บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือการสร้างความั่นคงทางอาหารของประเทศที่ยั่งยืน ประชาชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดีขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีคุณภาพ
ทั้งนี้ ตามแผนปฏิบัติการฯ จะดำเนินจัดการด้านอาหารผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคงอาหาร ด้านการคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร ด้านอาหารศึกษา และด้านบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 6 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1. จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง โดยสิ้นสุดแผนปี 2570 จะต้องมีประชากรที่ขาดแคนอาหารไม่เกินร้อยละ 7 ของจำนวนประชากร 2. ปริมาณการสูญเสียอาหาร และขยะอาหารลดลง 3. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น โดย ณ ปี 2570 ระดับความเชื่อมั่นต้องอยู่ในระดับดี
4. มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น โดยมีตัวชี้วัดเป็นการเติบโตของมูลค่าการส่งออกอาหาร ตั้งแต่ปี 2566 - 2570 ที่ร้อยละ 3 ต่อปี ดัชนีการส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อปี ดัชนีผลผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี 5.จำนวนคนที่มีภาวะทุพโภชนาการ (ขาดและเกิน) ลดลง โดย ณ ปี 2570 เด็กอายุ 0 - 5 ปี มีภาวะเตี้ยไม่เกินร้อยละ 8 มีภาวะผอมไม่เกินร้อยละ 5 มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนไม่เกินร้อยละ 8 6. มีกลไกประสานงานกลางและบูรณาการดำเนินงาน
หลังจากนี้สำนักงาน อย. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ จะเสนอร่างแผนปฏิบัติการฯ ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติและนำสู่การปฏิบัติต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ ข้อเสนอเชิงนโยบายโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนากลไกการจัดตั้ง FFC (Food with Function Claims) Thailand และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกันกำหนดแผนการวิจัยบูรณาการ เพื่อให้ได้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือในการสนับสนุนการผลิต ความปลอดภัย และประสิทธิผลของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีผลต่อสุขภาพต่อไป
พร้อมกับเห็นชอบประกาศคณะกรรมกาาอาหารแห่งชาติ ที่..../2565 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ซึ่งเป็นการปรับปรุงองค์คณะในคณะกรรมการ 4 คณะ ให้มีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน เพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง และเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อการบูรณาการดำเนินงานของทุกหน่วยงานมุ่งสู่เป้าหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนด้วยความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ คณะกรรมการขับเคลื่อนด้วยคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และคณะกรรมกาขับเคลื่อนด้วยการบริหารจัดการ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและสร้างความมั่นคงทางอาหาร อาทิ ความคืบหน้าการจัดทำปฏิทินสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial crop calendar) เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนเรื่องความมั่นคงอาหารและส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนและท้องถิ่น รับทราบการประเมินความสูญเสียอาหารผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารระดับชาติ เพื่อจัดทำเส้นฐานจำแนกมาตรการลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า และรายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
รวมถึงรับทราบความคืบหน้าการการขับเคลื่อนและประเมินผลสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายเพื่อการสร้างเสริม สุขภาพของคนไทยตามนโยบาย ลด หวาน มัน เค็ม โดยใช้สัญลักษณ์ โภชนาการอย่างง่าย หรือสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อและบริโภคอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการป้องกันปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs)