เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ ถกบอร์ดบีโอไอ เคาะปรับมาตรการลงทุนภาคเกษตร ดันไทยสู่ Bio Hub ในภูมิภาค


3 ก.พ. 2565, 18:56



นายกฯ ถกบอร์ดบีโอไอ เคาะปรับมาตรการลงทุนภาคเกษตร ดันไทยสู่ Bio Hub ในภูมิภาค




วันนี้ ( 3 ก.พ.65 ) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งที่ 1/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตร และเปิดประเภทกิจการใหม่ รับทราบรายงานสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 642,680 ล้านบาท นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณคณะกรรมการในการร่วมมือกันทำงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายเรื่องมีความก้าวหน้าโดยลำดับและดีขึ้นต่อเนื่อง พร้อมขอให้ทุกคนได้ช่วยกันทำงานต่อไปเพื่อให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการนำนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ ทั้งการวิจัยพัฒนา การพัฒนาแปรรูปต่าง ๆ ให้สามารถเพิ่มรายได้มากขึ้น สอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไปในเรื่องของการใช้พืชสมุนไพรและการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้พัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิมที่มีศักยภาพ ควบคู่กับการพัฒนาสิ่งใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ขณะเดียวกันให้พิจารณาหาแนวทางทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงโดยเฉพาะภาคการเกษตร พร้อมทั้งให้มีสถานที่และกระบวนการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์และสินค้า รวมถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด



นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแผนการดำเนินการขับเคลื่อนประเทศไทยระยะต่อไป ทั้งเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทุกมิติ โดยยืนยันจะมีโครงการสำคัญออกมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับทุกคน จึงขอให้ร่วมมือกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน โดยการดำเนินการของบีโอไอ ก็สอดคล้องกับทิศทางเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศและนโยบายของรัฐบาลแล้ว รวมไปถึงขอให้ติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศให้เป็นไปอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง โดยเฉพาะการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมแบบ Zoning ให้ปลูกพืชให้สอดคล้องกับพื้นที่และผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน และหาแนวทางลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนแก้ไขปัญหาการลดช่องว่างที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ขอให้มีการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงให้มากขึ้น โดยใช้ศักยภาพที่ไทยมีอยู่ทั้งเรื่องการเกษตร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีคุณภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ soft power ต่าง ๆ เป็นต้น พร้อมทั้งให้สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถึงการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้บีโอไอทบทวนปรับปรุงมาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็ขอชื่นชมที่บีโอไอได้ดูแลนักลงทุนต่างประเทศที่อยู่ในประเทศเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องการส่งเสริมการลงทุนและการดูแลสุขภาพภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ส่งผลให้มีการลงทุนต่อเนื่อง และบางรายมีการขยายการลงทุนด้วย รวมไปถึงหลายประเทศก็มีความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการประเมินการดำเนินการต้องเป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุมชัดเจน รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนต้องสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายเรื่อง BCG และการสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการศึกษาแนวทางจากต่างประเทศมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับศักยภาพของไทย รวมถึงเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทย ควบคู่กับการนำคนที่มีคุณภาพจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาของประเทศ และให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนขอให้มีแนวทางส่งเสริมการลงทุนที่ไม่ใช่เพียงสิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของ OECD
 
สำหรับมติที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ ที่สำคัญ มีดังนี้
 
ที่ประชุมเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตร และเปิดประเภทกิจการใหม่ ได้แก่ กิจการศูนย์การค้าผลิตผลทางการเกษตรระบบดิจิทัล และกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และทบทวนสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู Bio Hub ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รองรับการขยายตัวในอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการแข่งขันสูงมากในตลาดโลก โดยทั้งสองประเภทกิจการใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ทั้งนี้ บีโอไอได้ปรับปรุงประเภทกิจการ เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ครอบคลุมถึงยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวชสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้สมุนไพรเป็นวัตถุดิบ เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน และเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยหากเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดขั้นสูง จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี


ที่ประชุมรับทราบรายงานสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนโครงการรวม 1,674 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ มีอัตราการขยายตัวสูง จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 455,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 163 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น มีมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท รองลงมา คือ จีน มีมูลค่าเงินลงทุน 38,567 ล้านบาท และสิงคโปร์ มีมูลค่าเงินลงทุน 29,669 ล้านบาท ตามลำดับ
 
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 340,490 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53 ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 104,490 ล้านบาท เป็นผลจากการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G และการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 2) อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่าลงทุน 62,170 ล้านบาท จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและมีความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น 3) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ มูลค่าลงทุน 48,410 ล้านบาท 4) อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่าลงทุน 47,660 ล้านบาท และ 5) อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน มูลค่าลงทุน 24,570 ล้านบาท
 
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับการส่งเสริมจำนวน 453 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 220,500 ล้านบาท โดยจังหวัดระยองมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 112,740 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 74,550 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุนรวม 33,210 ล้านบาท
 
ด้านคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ในปี 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,732 ล้านบาท จำนวน 180 โครงการ และตั้งแต่ปี 2558 – 2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ มีมูลค่ารวม 99,709 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 999 โครงการ ส่วนการลงทุน BCG รวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งครอบคลุมในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ในปี 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 123 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และตั้งแต่ปี 2558 – 2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.