สธ. เล็งชง ! ศบค. ผ่อนมาตรการ เผยโควิดเริ่มคล้ายหวัดใหญ่ อาจปรับรายงานป่วยในรพ.เหมือนโรคทั่วไป
7 ก.พ. 2565, 14:47
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.65 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเสนอมาตรการต่อศบค.ว่า ขณะนี้ต้องรอศบค.นัดประชุม ยังไม่กำหนดวันแน่ชัด แต่หลักๆ จะมีการรายงาน 4 เรื่องหลัก คือ สถานการณ์ การฉีดวัคซีน การปรับพื้นที่ และคนเข้าประเทศ ซึ่งกาปรับพื้นที่แนวโน้มจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูข้อมูลและการหารือกั ศบค. ส่วนจะเข้มขึ้นหรือผ่อนลงขึ้นกับศบค. ขณะนี้ทั่วโลกมีการผ่อนคลายกันหมด หากเราจะเข้มขึ้นอาจดูแปลกๆ กว่าคนอื่น แต่ถ้าจะผ่อนมาก ตัวเลขเราก็กำลังขึ้น ทำไมถึงผ่อนมาก ก็มีทุกประเด็น จะเอาประเด็นไหนมาอภิปราย
“ตอนนี้ต้องมูฟออน เรายังไปติดกับดักโควิดเหมือนปี 2020 ไม่ได้ ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ต้องให้สังคมเข้าใจว่าโควิดเชื้อเปลี่ยนไป คนก็มีภูมิ เรารู้วิธีป้องกัน ตรงไหนจุดเสี่ยง ความรู้เรามีเยอะ หากทำแบบเดิมก็ไม่น่าจะเหมาะสม” นพ.โอภาสกล่าว
เมื่อถามถึงการการปรับการรายงานตัวเลข นพ.โอภาส กล่าวว่า การรายงานตัวเลขก็มีความเห็นต่าง ทั้งคนชอบและไม่ชอบ บางคนก็มองว่ารายงานแต่ตัวเลขติดเชื้อไม่เห็นเกิดประโยชน์ ทำไมไม่รายงานคนป่วยหนักและเสียชีวิต เราก็มีรายงานทุกอย่าง ดังนั้น เราก็เอาแบบกลางๆ คงปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ถ้าคิดว่าจะเป็นโรคทั่วไป เป็นโรคประจำถิ่น ก็จะรายงานคนที่ไป รพ.และคนเสียชีวิต ไม่ได้รายงานคนติดเชื้อทุกคน
“อย่างไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ได้รายงานทุกราย ซึ่งโควิดก็คล้ายไข้หวัดใหญ่เข้าไปทุกที ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยอาการหนักไม่ถึง 1% ที่เหลืออาการน้อยมาก คนติดเชื้อรวมทั้งรพ.และรักษาที่บ้าน ประมาณ 5 หมื่นราย มีปอดอักเสบ 500 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 100 ราย ไม่ถึง 1% ก็เหมือนไข้หวัดใหญ่เข้าไปทุกที ” นพ.โอภาส กล่าวและว่า เวลาเราปรับระบบก็ค่อยๆ ลด ไม่ใช่ทำพรุ่งนี้มะรืน คาดเดาปลายปีหากไม่มีอาการก็คงอยู่กับบ้าน ไม่ต้องทำอะไรมาก ตอนนั้นเราก็คงฉีดเข็ม 3 ไปกว่า 70
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการฉีดเข็ม 3 ไม่ว่าฉีด 2 เข็มสูตรไหนมา หากกระตุ้นด้วยแอสตราเซนเนกา ไฟเซอร์และโมเดอร์นา ประสิทธิภาพป้องกันติดเชื้อใกล้เคียงกันหมดอยู่ระดับ 60-70% แต่ป้องกันการเสียชีวิต 96-98 % มั่นใจว่านโยบายการฉีดเข็มกระตุ้นเราพิจารณาจากข้อมูลของเรา และปรับให้สอดคล้องสถานการณ์ ซึ่งการที่เราคุมได้ดีเพราะเราฉีดเข็มกระตุ้นได้เร็ว โดยเฉพาะกทม. ทำให้สถานการณ์การระบาดกทม.ไม่เยอะ
เมื่อถามถึงความจำเป็นเข็ม 4 เมื่อเป็นโรคประจำถิ่น นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคประจำถิ่น อย่างไข้หวัดใหญ่ฉีดวัคซีนทุกปี แต่โควิดยังเร็วเกินไป เพราะเราเพิ่งรู้จักมา 2 ปี แต่เชื่อว่าเข็มกระตุ้นมีประโยชน์ ส่วนเข็ม 4 เชื่อว่ายังจำเป็น แนะนำมาฉีดในพื้นที่ท่องเที่ยวสีฟ้า คนเข้าออกเยอะ มีความเสี่ยงสูง ยังไม่แนะนำทั่วไป อย่างไรก็ตาม การให้วัคซีนวงกว้างก็พิจารณาจากความปลอดภัย ประสิทธิภาพ สถานการณ์การระบาดในพื้นที่นั้นๆ และความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ เช่น มีวัคซีนอะไรในการให้บริการ เป็นต้น ไม่ได้ดูเฉพาะ นักวิชาการบางคนเอาข้อมูลด้านเดียวมาอธิบายก็ทำให้คนสับสน แต่ไม่ดูว่าของจริงว่าเป็นอย่างไร ซึ่ง สธ.เป็นข้อมูลจากการปฏิบัติจริง
ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์เด็กอายุ 5-11 ปีนั้น ส่งเข้ามาให้เรา 3 แสนโดสต่อสัปดาห์ และทราบว่ากำลังจะเพิ่มให้เราเข้าใว่า 1-2 สัปดาห์จะทยอยเข้ามาเป็นสัปดาห์ละ 5 แสนโดส จนครบ 10 ล้านโดส