นายกฯ ประชุม ศบค.เน้นคุมโควิด-19 รายวัน กำชับลดติดเชื้อใน 10 จังหวัดตัวเลขสูง
11 ก.พ. 2565, 15:43
วันนี้ ( 11 ก.พ.65 ) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 3/2565 ย้ำเน้นการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมวันวาเลนไทน์ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด “รักอย่างไร ไม่ติดโควิด” มอบนโยบายให้ครูและบุคลากรด้านการศึกษารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 2 เพื่อให้โรงเรียนปลอดภัย พร้อมกำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติกวดขันจับกุมแก๊งหลอกลวงขายชุดตรวจ ATK ด้วย ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก มีอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้นและคาดว่าได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว แม้โอมิครอนจะแพร่เชื้อได้ง่าย มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในหลายจังหวัด มากขึ้นในลักษณะคลัสเตอร์ในสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในโรงเรียน และตลาด จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการกำกับติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถต่อไป พร้อมเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น ด้วยการสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชน รวมทั้งผู้ปกครองของเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-11 ปี ด้วย เพื่อให้ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้เด็กเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย และเพื่อให้เด็กนักเรียนได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามปกติให้ได้โดยเร็ว โดยขอให้ ศปก.สธ. กทม. และทุกจังหวัด เร่งดำเนินการและอำนวยความสะดวกเพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง และมีความพร้อมในการเรียน On Site ได้เร็วที่สุด
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ศปก.ศบค. และ ศปก.สธ. ได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงเป็นไปตามที่คาดหมาย และมีมาตรการรองรับที่เหมาะสม โดยปัจจัยเสี่ยงยังเป็นลักษณะเดิม คือการไปร่วมงาน ปาร์ตี้ สังสรรค์ รับประทานอาหารร่วมกัน การเปิดหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้น ดังนั้น จึงยังต้องรักษามาตรการ VUCA คือ ฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการ COVID Free Setting และตรวจ ATK อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอให้ ศปก.สธ. ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาด และการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการนิยามทางระบาดวิทยา เกณฑ์ของประเทศไทยในการเข้าข่ายโรคประจำถิ่น รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังโควิดเป็นโรคประจำถิ่น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นให้มีการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 รายวัน ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นระบบสาธารณสุข โดยให้มีการปรับเกณฑ์และมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด เน้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และการฉีดวัคซีนในเด็กและเด็กเล็ก พร้อมสั่งการให้จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูง เช่น กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ราชบุรี เป็นต้น รวมทั้งการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในจังหวัดที่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ให้ค้นหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และหาวิธีการเพื่อลดจำนวนการติดเชื้อรายวันให้ได้ หรือให้จำนวนลดลงให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะเดียวกัน ยังมอบนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรด้านการศึกษารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 2 โดยครูทุกคนต้องถือเป็นหน้าที่ เพื่อให้โรงเรียนปลอดภัย ให้นักเรียนปลอดภัย และให้กระทรวงศึกษาธิการประเมินครูที่ทำหน้าที่สอนทั้งแบบ On line/On site และ On air นอกจากนี้ ยังย้ำถึง ต้องให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจ ATK ได้ง่ายและราคาไม่แพง โดยพร้อมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจ ATK สินค้านวัตกรรมงานวิจัยของศิริราช ม.มหิดล ให้สำเร็จให้มากที่สุด และสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องกวดขันจับกุมแก๊งหลอกลวงขายชุดตรวจ ATK ปลอมด้วย นอกจากนี้ กิจกรรมที่เสี่ยงจะต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากพบฝ่าฝืนมาตรการและผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมวันวาเลนไทน์ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด “รักอย่างไร ไม่ติดโควิด” ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ประชาสัมพันธ์ในทุกพื้นที่
ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศบค. ยังคงระดับพื้นที่และมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบในหลักการการจัดทำความตกลง ATB ระหว่างไทย – อินเดีย โดยมอบให้กระทรวงคมนาคมนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงานที่ทำงานอย่างเต็มที่ ถึงแม้ประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ยังได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศที่ผู้สูงอายุชาวฝรั่งเศส เลือกที่จะไปใช้ชีวิตหลังเกษียณมากที่สุด ซึ่งมีเพียง 2 ประเทศในเอเชียที่ติดอันดับ คือไทยและอินโดนีเซีย (อันดับที่ 7) สะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยประเทศไทยมีคะแนนนำในด้านตัวชี้วัดด้านค่าครองชีพ อสังหาริมทรัพย์ และด้านการแพทย์ ในนามของรัฐบาล ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ดำเนินงานในเรื่องนี้ มั่นใจ ศบค. ในนามของรัฐบาล จะสามารถแก้ปัญหาการระบาดระลอกนี้ได้ เชื่อมั่นว่าทุกคนจะช่วยกันแก้ปัญหาให้ผ่านวันเวลาช่วงวิกฤตนี้ไปได้