ปลัด สธ. เผยพบผู้ป่วยโรคร่วม ติดโควิดไม่รู้ตัว แต่ไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิต
18 ก.พ. 2565, 11:41
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณี โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 423/2564 ผ่านระบบทางไกล กับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินและติดตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทย พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เรื่องจากโอมิครอนมีข้อมูลชัดเจนทั้งในไทยและต่างประเทศว่า แพร่เชื้อได้เร็ว โดยการที่จำนวนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้ติดโควิด-19 ขณะนี้มากกว่า 90% ไม่มีอาการ โดยอีก 3% เป็นผู้ที่มีอาการหนัก อัตราเสียชีวิตต่ำกว่า 0.1% ส่วนความเสี่ยงยังเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัวและคนรู้จักขณะทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทานอาหารร่วมกัน เล่นกีฬา รวมทั้งกิจกรรมงานบุญ งานศพ งานแต่งงาน ขณะที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ยังคงเป็นกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รวมทั้งที่ยังไม่ได้รับบูสเตอร์โดส โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง จึงต้องกำชับให้เน้นตรวจคัดกรองหาเชื้อในกลุ่มผู้ดูแล รวมทั้งกำกับการใช้มาตรการ VUCA ในศูนย์ดูแลผู้ป่วยสูงอายุอย่างเคร่งครัด
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ได้รับรายงาน มีผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นมากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต อุดรธานี เชียงใหม่ ฯลฯ ซึ่งพบผู้เสียชีวิตบางรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ได้รับรายงานการเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยหนักมาก่อน และส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานอาการป่วยก่อนจะได้รับการรักษาในระบบ Co-Ward และบางรายเป็นการตรวจพบเชื้อในวันที่เสียชีวิตด้วย
ปลัด สธ. กล่าวว่า พบการระบาดลักษณะคลัสเตอร์ในโรงเรียน โรงงาน สถานประกอบการ ตลาด และชุมชน ร่วมทั้งหอพักนักศึกษา และ แคมป์คนงาน ในการนี้ต้องเร่งสื่อสารประชาชน ต่อการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงและสร้างการรับรู้การติดเชื้อโควิด-19 ให้สามารถดูแลตนเองและครอบครัวให้ห่างจากปัจจัยเสี่ยงที่รับเชื้อ ทั้งไปสถานที่เสี่ยง หรือร่วมกิจกรรมเสี่ยง รวมถึงเร่งให้คนในบ้านไปรับวัคซีน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตแต่ไม่มีการรายงานเป็นผู้ป่วยหนักเข้าระบบ Co-ward มาก่อน และกรณีที่ตรวจพบเชื้อในวันที่เกิดเสียชีวิต เกิดจากสาเหตุใด นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ต้องชี้แจงว่า ผู้เสียชีวิตขณะนี้เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวร่วม เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิต เป็นต้น โดยโรคนั้นๆ จะมีความรุนแรงขึ้นตามเวลา และต้องได้รับการรักษาอยู่ต่อเนื่อง
นพ.เกียรติภูมิ กล่าว ผู้มีโรคร่วมอยู่เดิมแล้ว แต่ติดโควิด-19 ที่ไม่มีอาการจึงไม่รู้ว่าติดโควิด แต่พอป่วยหนักด้วยโรคประจำตัวก็มารับการรักษาที่ รพ. พอตรวจหาเชื้อก็เลยรู้ว่าติดโควิดด้วย ดังนั้น ด้วยโรคเดิมที่รุนแรงอยู่แล้วก็ทำให้เสียชีวิตได้ บางกรณีจึงไม่ใช่เพราะเสียชีวิตด้วยโควิด เพราะอาการที่เกิดไม่เกี่ยวกับปอด ระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวกับโควิดเลย ดังนั้น เรากำลังหารือกันว่าต้องรายงานว่า เสียชีวิตจากโควิด หรือโรคประจำตัว แต่ตามหลักต้องระบุว่าสาเหตุจากโควิด
“ทั่วโลกนับแบบนี้ แต่ถ้าเรานับก็อาจจะไม่ถูกต้อง เราจึงอาจต้องแยกออก น่าจะนับแยกเป็นการเสียชีวิตจากโรคร่วม เช่น มะเร็ง เพราะอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากโควิด แต่ถ้ามีอาการหายใจไม่ออก หอบเหนื่อย ก็จะใช้ว่าเสียชีวิตจากโควิด” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
เมื่อถามต่อว่าเหตุที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีสาเหตุว่าเตียงไม่พอ ทำให้ผู้ป่วยโรคประจำตัวเข้าไม่ถึงการรักษาหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เตียงเพียงพอแน่นอน เฉพาะเตียงกลุ่มป่วยสีเหลือง สีแดงทั้งประเทศมีแสนกว่าเตียง ตอนนี้ใช้ไป 40% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว ที่จริงๆ สามารถรักษาที่บ้านได้ (Home Isolation)
“ความรุนแรงคงไม่เกิดที่ไทยประเทศเดียว ทั่วโลกก็พบว่าอัตราป่วยตายลดลงจากเดลต้าตลอด จากอัตรา 2% เหลือ 1.4% ซึ่งไทยเห็นเสียชีวิต 20 รายต่อวันขึ้น เพราะตัวเลขติดเชื้อเพิ่ม แต่เราไม่ได้อยากเห็นตัวเลขเสียชีวิตเพิ่ม ทั้งนี้ อัตราเสียชีวิตของไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นในตัวบุคคล ความรุนแรงโรคไม่เพิ่มขึ้น แต่จำนวนเสียชีวิตอาจเพิ่มเพราะฐานติดเชื้อเพิ่มขึ้น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว