นายกฯ หารือทูตชิลี สานความร่วมมือด้านการค้า-ลงทุน และพหุภาคี
18 ก.พ. 2565, 19:27
วันนี้ ( 18 ก.พ.65 ) เวลา 14.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอเล็กซ์ ไกเกอร์ ซอฟเฟีย (H.E. Mr. Alex Geiger Soffia) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตชิลีฯ ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ในประเทศไทย โดยไทยและชิลีมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นมายาวนาน ซึ่งจะครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีนี้ หวังว่าเอกอัครราชทูตชิลีฯ จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันทุกมิติ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี ด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความร่วมมือในกรอบพหุภาคีในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยสามารถประสานมายังรัฐบาลผ่านกระทรวงการต่างประเทศได้เสมอ
เอกอัครราชทูตชิลีฯ รู้สึกยินดีที่ได้มาดำรงตำแหน่งประจำประเทศไทย และขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นจากนายกรัฐมนตรีในวันนี้ โดยไทยและชิลีมีความร่วมมือกันในทุกมิติ ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ซึ่งจะครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีนี้ นอกจากนี้ ชิลียังเห็นไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของชิลีในภูมิภาค เอกอัครราชทูตชิลีฯ ยืนยันสานต่อความร่วมมือทั้งทวิภาคีและพหุภาคีให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ทั้งทางการค้า การลงทุน ความมั่นคง และความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตชิลีฯ เห็นพ้องกันว่า ความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับชิลียังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก พร้อมยินดีสนับสนุนให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศขยายการลงทุนซึ่งกันและกัน พร้อมใช้ประโยชน์สูงสุดจาก FTA ไทย – ชิลี ซึ่งอัตราภาษีของสินค้าทุกรายการจะลดเป็นร้อยละศูนย์ในปีหน้า และจะช่วยเพิ่มพูนมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภาคเอกชนไทยเล็งเห็นถึงศักยภาพของชิลี และสนใจเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะในสาขาการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ซึ่งเอกอัครราชทูตชิลีฯ ยินดีที่ภาคเอกชนไทยสนใจลงทุนในด้านดังกล่าว
ความร่วมมือทางวิชาการ ไทยและชิลีต่างยินดีที่ความร่วมมือทางวิชาการในกรอบไตรภาคีร่วมกับอาเซียน มีส่วนเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการพัฒนาและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ นายกรัฐมนตรีหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมกันเผยแพร่องค์ความรู้ในสาขาที่ฝ่ายชิลีมีความเชี่ยวชาญ อาทิ การปลูกพืชควินัว การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ทั้งสองฝ่ายยืนยันส่งเสริมความร่วมมือกัน ในการจัดการกับโรคโควิด -19 และสนับสนุนแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในยุคหลังโรคโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมนโยบายการบริหารจัดการฉีดวัคซีนของชิลี ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ประชาชนสูงเป็นลำดับต้นของโลก ด้านเอกอัครราชทูตชิลีฯ ชื่นชมรัฐบาลในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้จนนำไปสู่การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ชิลีหวังว่า ไทยและชิลีจะแสวงหาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้นในอนาคต
ด้านความร่วมมือในกรอบพหุภาคี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ พร้อมต้อนรับคณะผู้แทนชิลีในการเข้าร่วมประชุมต่าง ๆ โดยเฉพาะ นายกาบริเอล โบริก ฟอนต์ ว่าที่ประธานาธิบดีชิลีคนใหม่ ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งไทยจะเน้นการสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในบริบทโลกหลังโรคโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล โดยมีแนวคิด BCG เป็นแนวคิดหลักในการประชุมเอเปคปีนี้ ด้านเอกอัครราชทูตชิลีฯ ยินดีสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และพร้อมร่วมมือกับไทยในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในกรอบเอเปค และความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (FEALAC)