กรมวิทย์ฯ ! ขอเวลาจับตา! อาการผู้ติดเชื้อโอไมครอน BA.2 ในไทย คาด! ความรุนแรงไม่เพิ่มขึ้น
19 ก.พ. 2565, 14:11
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยกวับ โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มีความรุนแรงเทียบเท่ากับเดลต้า ว่า ข้อมูลที่จะบอกว่าโอมิครอน BA.2 มีความรุนแรงกว่า BA.1 หรือมีลักษณะความรุนแรงอย่างไรจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลจากผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอน BA.2 ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ที่กรมวิทยฯ สุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว เฉพาะวันที่ 5-11 ก.พ. จากผู้ติดเชื้อ 1,975 ตัวอย่าง พบ BA.2 ประมาณ 400-500 ราย หรือ คิดเป็น 18.5% ทางกรมวิทยฯ ได้ประสานกับกรมการแพทย์ ส่งข้อมูลผู้ติดเชื้อ BA.2 ไปเพื่อให้แพทย์เก็บข้อมูลทางคลินิก อาการของผู้ติดเชื้อ โดยปกติก็จะใช้เวลามากกว่า 14 วัน แต่ดูอาการหลังจากที่ผู้ติดเชื้อหายแล้วต่ออีก
“การจัดลำดับชั้นของ BA.2 ยังอยู่ในลำดับชั้นโอมิครอนเดิม แต่ก็มีการจับตามอง(Interesting) แต่การตรวจรักษาก็ไม่จำเป็นต้องแยกสายพันธุ์ เรารักษาตามอาการ ส่วนวัคซีนป้องกันโควิดก็ยังสามารถลดความรุนแรงได้ทั้งสายพันธุ์เดลต้า โอมิครอน” นพ.ศุภกิจ กล่าว
เมื่อถามถึงธรรมชาติของไวรัสว่าจะกลายพันธุ์รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หรือจะเบาลดลง นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง แต่หากไวรัสที่แรงเกินไป ในอดีตเราเห็นว่าไม่เคยอยู่ได้นาน เพราะคนติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงก็เสียชีวิต ไวรัสเองก็ตายเหมือนกัน เช่น ไข้หวัดนก ป่วย 25 ราย ตาย 17 ราย โรคเมอร์ส โรคซาร์ส ที่อัตราเสียชีวิตสูง 10-20% ก็จะจบเร็ว
“ฉะนั้นไวรัสที่จะเจ๋งคือ ทำให้คนเสียชีวิตพอสมควร 3-5% แล้วแพร่เชื้อได้เรื่อยๆ แต่ส่วนของโอมิครอน อัตราป่วยตายเริ่มต่ำลง โดยข้อมูลตอนนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็ไม่มีอาการอะไรเลย” นพ.ศุภกิจ กล่าว
อธิบดีกรมวิทยฯ กล่าวว่า เราเห็นชัดว่าโอมิครอนเมื่อเทียบกับเดลต้า ตอนนั้นที่ติดเชื้อ 1 หมื่น เสียชีวิต 200 กว่าราย แต่ตอนนี้ติดเชื้อหลักหมื่นเท่ากัน แต่เสียชีวิต 20 ราย ส่วนความกังวลว่า โอมิครอน BA.2 จะรุนแรงหรือไม่ เราก็ต้องติดตาม แต่ก็ยังไม่พบสัญญาณว่าจะทำให้คนป่วยหนัก