เปิดตำนาน “ไหลเรือไฟนครพนม” กลางสายน้ำ ยิ่งใหญ่อลังการเหนือลำน้ำโขง (มีคลิป)
9 ก.ย. 2562, 13:40
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม เริ่มมีรถบรรทุกไม้ไผ่ลำยาวของแต่ละอำเภอมากองไว้ที่ริมท่า เพื่อต่อเป็นโครงเรือไฟ เตรียมอวดความงามกลางสายน้ำ ในเทศกาลงานประเพณีไหลเรือไฟ วันออกพรรษาประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 6-14 ตุลาคม โดยนักท่องเที่ยวจะได้พบกับขบวนเรือไฟที่ยิ่งใหญ่อลังการเหนือลำน้ำโขง จำนวน 13 ลำ จาก 12 อำเภอ ในคืนวันออกพรรษาวันที่ 13 ตุลาคม 2562 ตรงกับขึ้น 15 เดือน 11 ซึ่งในแต่ละปีศิลปินเรือไฟประจำอำเภอนั้นๆ ต่างคิดค้นลวดลายบนเส้นลวดให้ออกมาเฉิดจ้าตามจินตนาการ เพื่อคว้าถ้วยรางวัลพระราชทานไปครอง
การประกวดเรือไฟปีที่ผ่านมา แยกออกเป็น 2 ขนาด ได้แก่ขนาดเล็กความยาวตั้งแต่ 40-60 เมตร และไซส์ใหญ่ความยาว 61-80 เมตร ส่วนรางวัลแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สวยงามกับความคิด ส่วนเรือไฟขนาดเล็กที่คว้ารางวัลชนะเลิศเป็นเรือไฟของ อ.ปลาปาก ส่วนเรือไฟขนาดใหญ่ความยาว 61-80 เมตร จาก อ.เมืองนครพนม ชนะเลิศ ประเภทสวยงาม ซึ่งประเภทสวยงามนี้ในอดีตเรือไฟ อ.โพนสวรรค์ ผูกขาดแชมป์ติดต่อมาหลายสมัย และเรือไฟขนาดใหญ่ ประเภทความคิด ชนะเลิศคว้าถ้วยรางวัลไปครอง ได้แก่ เรือไฟของ อ.นาแก โดยเฉพาะเรือไฟประเภทความคิดถือว่าเรือไฟ อ.นาแก สามารถโค่นแชมป์เก่าจาก อ.ศรีสงคราม ที่ครองถ้วยรางวัลนี้มาถึง 3 ปีซ้อน ชนิดหักปากกาเซียนพลิกล็อคถล่มทลาย ปีนี้จึงเป็นไฟล์ล้างตาอดีตแชมป์จะทวงบัลลังก์ได้หรือไม่ คืนวันไหลเรือไฟที่ 13 ตุลาคม 2562 รู้กัน
ประเพณีไหลเรือไฟ เป็นประเพณีของชาวอีสานลุ่มแม่น้ำโขง ภาษาถิ่นเรียกว่าล่องเฮือไฟ หรือ ลอยเฮือไฟ เกิดจากคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา คือ การบูชารอยพระพุทธบาทที่ทรงประทับไว้ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานที(ประเทศอินเดีย) เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับมาสู่มนุษย์โลก หลังจากขึ้นไปเทศนาโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือเรียกว่าวันพระเจ้าเปิดโลก การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ ผสมผสานกับคติความเชื่อท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน เช่นการสักการะท้าวผกาพรหม การขอขมาและบูชาพระแม่คงคา การบูชาพญานาค การขอฝน และการสะเดาะเคราะห์ เผาความทุกข์ให้ลอยไปตามสายน้ำ
ในสมัยโบราณคนที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้กับแม่น้ำโขง จึงสร้างเรือไฟที่ทำด้วยท่อนกล้วย หรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือ ให้สามารถลอยไปตามสายน้ำ โดยใช้ผ้าเก่ามาฉีกเป็นริ้ว ชุบน้ำมันยางแล้วตากแห้ง นำไปพันกับเส้นลวดในโครงสร้างรูปเรือแล้วจุดไฟ ภายในเรือตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน แล้วใส่ข้าวปลาอาหาร กล้วย อ้อย หมากพลู บุหรี่ ฝ้าย ในไหมหลอด เสื่อ หรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทานบรรจุลงเรือไฟ ก่อนจะพัฒนามาเป็นฐานทำด้วยแพลุกบวบ หรือผูกติดกับถังน้ำมันเก่า เพื่อเป็นทุนลอยน้ำ ตัวเรือทำจากไม้ไผ่มัดเป็นแพและถังน้ำมันมัดเป็นทุ่น ส่วนโครงเรือไฟ(นั่งร้าน) ทำจากไม้ไผ่รวกหรือไม้ไผ่บ้าน เป็นต้น
ชาวจังหวัดนครพนม เรียนรู้ สั่งสม และสืบทอดภูมิปัญญา ศิลปะการจัดสร้างเรือไฟมาแต่โบราณ ส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีการอนุรักษ์เรือไฟแบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาเรือไฟให้ร่วมสมัยทั้งรูปแบบ ความงาม และเทคนิคการนำเสนอที่ตื่นตาตื่นใจ ส่วนลวดลายบนเรือไฟแต่ละลำขึ้นอยู่กับศิลปินเรือไฟ จะจินตนาการตามความคิด ความเชื่อ ในทางพระพุทธศาสนา และความจงรักภักดีต่อสถาบัน ตลอดจนสัตว์ในเทพนิยาย
การไหลเรือไฟจังหวัดนครพนม จะมีขึ้นในวันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) เท่านั้น เดิมจัดกันภายในชุมชน หรือหมู่บ้านที่อยู่อาศัยใกล้แม่น้ำ ต่อมาปี พ.ศ.2518 (ตรงกับปีองค์พระธาตุพนมล้ม) ประเพณีไหลเรือไฟได้หยุดลงชั่วคราว อาจจะเกี่ยวข้องกับที่ประเทศเพื่อนบ้าน มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงไม่มีความปลอดภัยในการลอยเรือไฟ จำต้องชะงักประเพณีดังกล่าวไว้
จนเวลาผ่านมาถึง 8 ปี (พ.ศ.2526) นายบวร บุปผเวส นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม(ในขณะนั้น) ร่วมกับสมาคมเจซีฯ ช่วยกันปัดฝุ่นฟื้นฟูประเพณีไหลเรือไฟขึ้นมาใหม่ โดยเทศบาลฯได้ออกประกาศเชิญชวนส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน และชาวคุ้มวัดต่างๆให้ช่วยกันประดิษฐ์เรือไฟ เพื่อประกวดประชันแข่งขันกัน ในครั้งนั้นมีเรือส่งเข้าชิงชัยถึง 52 ลำ กระทั่งงานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามลำดับ
จวบปี พ.ศ.2528 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ยกระดับนำเข้าสู่ปฏิทินเทศกาลท่องเที่ยวไทย เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม ด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ช่วงเทศกาลออกพรรษาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
กระทั่งปี 2533 จังหวัดนครพนมได้ขอพระราชทานไฟพระฤกษ์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่ 9) เพื่ออัญเชิญมาจุดที่เรือไฟแบบดั้งเดิม แล้วจึงจุดต่อไปยังเรือไฟประกวด เพื่อความเป็นสิริมงคลในการจัดงาน และยังคงปฏิบัติสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้
ปัจจุบันจังหวัดนครพนมได้จัดงานไหลเรือไฟเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา โดยใช้ชื่อว่า “งานไหลเรือไฟและกาชาด” รวม 9 วัน 9 คืน แบ่งการออกเป็น 2 โซน คือรอบศาลากลางจังหวัดฯ เป็นงานกาชาด ส่วนเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นการชมไหลเรือไฟที่ยิ่งใหญ่อลังการจาก 12 อำเภอ นอกจากนี้ยังมีการลอยเรือไฟโบราณ ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบเรือไฟในปัจจุบัน ที่ชาวนครพนมทั้ง 25 คุ้ม ร่วมกันอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น โดยจุดตั้งขบวนเรือไฟโบราณ จำนวน 12 ลำ ตามปีนักษัตร 12 ราศี อยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง หน้าวัดโพธิ์ศรี ถนนสุนทรวิจิตร ใกล้กับองค์พญาศรีสัตตนาคราช ซึ่งจะเชื้อเชิญนักท่องเที่ยวร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีเก่าแก่นี้ ด้วยการให้ตัดเล็บ ตัดผม วางไว้ในเรือไฟ ตามคติความเชื่อว่าเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ สะเดาะเคราะห์ให้ชีวิตหมดเคราะห์หมดโศก หายจากโรคภัย สิ่งชั่วร้ายในชีวิตจงไหลไปกับสายน้ำ และมอดไหม้ไปพร้อมกับเปลวไฟ
งานประเพณีไหลเรือไฟจังหวัดนครพนมประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 6-14 ตุลาคม รวม 9 วัน 9 คืน จัดให้มีกิจกรรมในงาน โซน 2 คือในแม่น้ำโขง ชมการไหลเรือไฟโชว์(เรือไฟวิทยาศาสตร์) วันละ 2 ลำ และปล่อยกระทงสาย (ไข่พญานาค ) การจัดนิทรรศการวิถีคนทำเรือไฟ ศิลปะวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ หน้าสถานที่จะทำเรือไฟของแต่ละอำเภอริมฝั่งแม่น้ำโขง และการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน
ส่วนโซน 1 บริเวณศาลากลางจังหวัดนครพนม มีกิจกรรมตักมัจฉากาชาด พร้อมเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ดนตรีโปงลาง การประกวด B Boy การแสดงดนตรีของเด็กเยาวชน การประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหาร อปท. และการประกวดธิดาเรือไฟ นอกจากนี้มีการออกร้านและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP และจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด บริเวณถนนอภิบาลบัญชาและถนนราชทัณฑ์โดยรอบศาลากลางจังหวัดนครพนม
สำหรับกิจกรรมวันที่ 13 ตุลาคม วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เริ่มจากพิธีรำบูชาพระธาตุพนม จาก 8 ชนเผ่า ณ บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จากนั้นก็เป็นกิจกรรมภายในเขตเทศบาลเมืองนครพนม เช่นขบวนพิธีอัญเชิญไฟพระฤกษ์ และขบวนแห่เรือไฟบก ปราสาทผึ้ง จากถนนนิตโยมายังหน้าศาลหลักเมือง ต่อด้วยพิธีทางศาสนาเปิดมหกรรมไหลเรือไฟจังหวัดนครพนม ชมการปล่อยกระทงสาย และการไหลเรือไฟจากอำเภอต่างๆ จำนวน 13 ลำ รุ่งเช้าวันที่ 14 ตุลาคม เป็นพิธีทำบุญตักบาตรเทโว หน้าลานพญาศรีสัตตนาคราช ถนนสุนทรวิจิตร ถือเป็นวันสิ้นสุดงานประเพณีไหลเรือไฟ ประจำปี 2562
แต่ก่อนที่จะเริ่มงานประเพณีไหลเรือไฟของทุกปี ชาวจังหวัดนครพนมนอกจากจะเชื่อว่าในแม่น้ำโขงมีพญานาคสถิตแล้ว ก็ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลวงพ่อพระแสง ประดิษฐานอยู่ที่อุโบสถวัดศรีเทพประดิษฐาราม สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2402 (ตำนานเล่าว่าสร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้าง พร้อมกับพระสุก พระเสริม และหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย) เจ้าพ่อเหล็กซีด้ามแตก เจ้าพ่อคำแดง เจ้าพ่อหมื่น เจ้าพ่อสัมมะติ และเจ้าพ่อสิบสอง จึงต้องทำการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นผู้กล่าวคำบวงสรวง เพื่อให้ท่านปกปักรักษาบ้านเมือง ประชาชนให้มีความสงบสุขร่มเย็น ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และขอให้มีโชคลาภ การทำมาหากินให้มีแต่ความอุดมสมบูรณ์เจริญรุ่งเรือง