นายกฯ ยินดี กรุงเทพฯ ติดอันดับ 6 เมืองจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติระดับโลก
24 ก.พ. 2565, 10:25
วันนี้(24 ก.พ. 65)นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอับดับที่ 6 ของเมืองจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติระดับโลก จากรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของเมืองที่เป็นจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติ ประจำปี 2564 (International Convention Destination Competitive Index 2021) ด้วยคะแนน 642.1 จากทั้งหมด 101 เมืองทั่วโลก (International Convention Destination 2021) ซึ่งจัดทำโดยบริษัท GainingEdge บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกด้านอุตสาหกรรมไมซ์(Meeting, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions: MICE) ซึ่ง 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ ปารีส นิวยอร์ก สิงคโปร์ ปักกิ่ง โตเกียว กรุงเทพฯ ลอนดอน บาร์เซโลนา อิสตันบูล และวอชิงตัน ตามลำดับ
นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ได้ขยับขึ้นมา 2 อันดับ จากเดิมอันดับ 8 ในปี 2563 และเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กรุงเทพฯ จะอยู่ในอันดับ 4 ของเมืองในทวีปเอเชียยอดนิยม (Top Asian Metropolises) ดังนี้ สิงคโปร์ ปักกิ่ง โตเกียว กรุงเทพฯ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ กัวลาลัมเปอร์ และโซล สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการประชุมของประเทศไทยที่มีศักยภาพในการจัดประชุมทุกระดับ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
โฆษกรัฐบาลกล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานผลการจัดอันดับดังกล่าว ใช้การวิจัยและรวบรวมข้อมูลจากจากรายชื่อเมืองที่มีการจัดประชุมนานาชาติมากที่สุดในแต่ละปีของสมาคมการประชุมและการประชุมนานาชาติ (International Congress and Convention Association: ICCA) จากนั้นได้ประเมินคุณภาพของปัจจัยที่สำคัญในแต่ละเมือง ซึ่งพิจารณาใน 3 ปัจจัยหลัก และ 11 องค์ประกอบย่อย คือ 1. ด้านสุขอนามัย (Hygiene Factors) ได้แก่ สิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนสำหรับการประชุม ข้อเสนอของโรงแรม/ที่พัก ตอบโจทย์การใช้งาน และการเดินทางทางอากาศซึ่งต้องมีทั้งเที่ยวบินระหว่างประเทศและในประเทศรองรับผู้เข้าร่วมการประชุม 2. ด้านความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantages) ได้แก่ เครือข่ายทางการตลาด ต้นทุนในการจัดเตรียมการประชุมคุ้มค่า และการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว 3. ด้านการสร้างความแตกต่าง (Key Differentiators) ได้แก่ ระบบโลจิสติกส์ที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก มูลค่าทางการตลาดของประเทศนั้น ๆ ขนาดของเศรษฐกิจโดยคำนวณจากค่า GDP/ประชากร สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและ ความปลอดภัยและเสถียรภาพในประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุตสาหกรรมไมซ์สามารถนำมาพัฒนาจากธุรกิจท่องเที่ยว ต่อยอดไปสู่การให้บริการจัดประชุม งานแสดงสินค้าต่าง ๆ ที่สามารถนำเสนอที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้ด้วยเช่นกัน โดยมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เป็นองค์กรภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ ด้วยการอำนวยความสะดวกและพัฒนามาตรฐานการจัดงานในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีศักยภาพในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะภายหลังช่วงสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งปัจจุบันการจัดการประชุมต่าง ๆ ได้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง เช่น ในปีนี้ ประเทศไทยมีแผนการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (APEC 2022) ซึ่งมีการจัดการประชุมทุกระดับในแต่ละพื้นที่ของประเทศตลอดปี 2565 และงาน Thailand International Air Show ในปี 2566 ณ พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และพื้นที่เมืองการบินภาควันออกในเขต EEC ซึ่งถือเป็นงานแสดงอากาศยานและยุทโธปกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
"นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าผลการจัดอันดับแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ดีของไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ที่ไทยมีศักยภาพให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง เป็นการแสดงถึงความพร้อมของไทยในการรองรับการจัดงานทุกรูปแบบ ทั้งการประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติ และงานแสดงสินค้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่า ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีศักยภาพ เอกลักษณ์ และความโดดเด่นที่ต่างกัน ความพร้อม และสีสันของกรุงเทพฯ เหมาะสมกับการจัดการประชุม แต่อีกหลายจังหวัดใหญ่ๆของไทย ก็มีความพร้อมไม่แพ้กัน นอกจากนั้น แต่ละจังหวัดก็มีจุดเด่นแตกต่างกัน แต่ล้วนเป็นจุดขายสร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลพร้อมส่งเสริม สนับสนุนความต่าง ดึงความโดดเด่นนั้นมาสร้างชื่อเสียงระดับโลก เชื่อมั่นว่าหนึ่งในเสน่ห์ของประเทศไทยก็คือคนไทยทุกคน" นายธนกรฯ กล่าว