สปสช. เปิดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ" !
3 มี.ค. 2565, 16:32
เมื่อวันที่ 2 มี.ค.65 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและการให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก (OPD) ตามแนวทางโดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่แจ้งให้หน่วยบริการเตรียมความพร้อมการดูแลผู้ป่วยแบบโรคประจำถิ่น (Endemic)
โดยให้เพิ่มการจัดบริการรักษาผู้ป่วยนอก สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีภาวะเสี่ยง หรือแนวทาง “เจอแจกจบ” โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไปนั้น สปสช.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลการจ่ายชดเชยค่าบริการ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีการประชุมหารือร่วมกับกรมการแพทย์ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองเศรษฐกิจสุขภาพและประกันสุขภาพ สธ. เพื่อกำหนดอัตราจ่ายการให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้าน (OP self Isolation)
ทั้งนี้ จากการประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการจัดบริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน และอัตราการจ่ายชดเชย "เจอแจกจบ" ค่าบริการ 1,300 บาทต่อราย ครอบคลุมคำแนะนำในการแยกกัก การติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง การจ่ายตามอาการรวมค่าจัดส่ง และการจัดระบบบริการรองรับการโทรกลับเพื่อให้คำปรึกษาประชาชนเมื่ออาการเปลี่ยนแปลงและนำเข้าสู่ระบบการรักษา
จากมติดังกล่าว ขณะนี้ สปสช. ได้มีการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านตามนโยบาย "เจอแจกจบ" ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป และจะชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยบริการทั่วประเทศที่ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึงการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บริการนี้
สำหรับการจ่ายชดเชย "เจอแจกจบ" ค่าบริการอัตรา 1,300 บาทนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนบริการ คือ
1. การจ่ายชดเชยเหมาจ่าย 1,000 บาทต่อราย ประกอบด้วย ค่าบริการให้คำแนะการแยกกักตัวที่บ้าน การให้ยารักษาตามอาการ การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง รวมทั้งการจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ
2. ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น 300 บาทต่อราย เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลง และหรือให้ปรึกษาอื่นๆ หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะมีบริการติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้านที่เพิ่มเติมเข้ามาในระบบ แต่ในส่วนของบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) ยังคงให้บริการควบคู่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสะดวกในการเข้ารับบริการของผู้ป่วย
โดยทั้ง 2 บริการจะมีการให้บริการที่ต่างกันเพียงบางส่วน ดังคือ บริการติดเชื้อโควิดฯ แบบผู้ป่วยนอก แยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ บริการโทรติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง มีระบบส่งต่อรักษาเมื่ออาการแย่ลง
ส่วนบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) แยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ บริการโทรติดตามอาการทุกวัน ได้รับอุปกรณ์ตรวจประเมินอาการ มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง และได้รับอาหาร 3 มื้อ ในช่วงที่รับการดูแล
“บริการทั้ง 2 รูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งบริการติดเชื้อโควิดแบบผู้ป่วยนอกจะเข้ามาช่วยเสริมในกรณีผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบ Home Isolation แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการ ซึ่งการให้บริการจะแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว