"รมว.คมนาคม" ดูคืบหน้าสร้างสะพานไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ
13 มี.ค. 2565, 10:09
เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่บริเวณจุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมนางนาที รัชกิจประการ ประธานที่ปรึกษา นายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรี ,นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายศราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง, นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท และนายฐิตินันท์ แสงนาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย โดยมีนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นำหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่าจังหวัดบึงกาฬ ถือว่าเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย และถึงแม้จะเป็นจังหวัดน้องใหม่ แต่ก็มีศักยภาพหลายด้านที่สามารถพัฒนาและส่งเสริมต่อไปได้ นั่นทำให้พื้นที่แห่งนี้ กลายเป็นที่ตั้งของโครงการ Mega Project อย่างสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการร่วมมือกันของ 2 ประเทศ ทั้งเพื่อนบ้าน คือ สปป.ลาว และประเทศไทยของเรา ก่อนอื่นต้องเรียนว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างเมื่อปี 2562 กำหนดแล้วเสร็จกลางปี 2566 และจะเปิดใช้ต้นปี 2567 ในการตรวจเยี่ยมโครงการฯ ในครั้งนี้พบว่าโดยภาพรวมมีความก้าวหน้า 36.04% ถือว่าสร้างได้เร็วกว่าแผนเล็กน้อย ซึ่งหากสร้างเสร็จโอกาสที่จะเกิดขึ้น ก็คือจะเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยได้อย่างดียิ่ง เพราะสะพานแห่งนี้จะเปิดเส้นทางเข้าสู่ สปป.ลาว เชื่อมต่อไปถึงเวียดนาม และเข้าสู่จีนตอนใต้ได้ นี่จึงเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเฉพาะชาวบึงกาฬ และนอกจากโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ที่จะเป็นโอกาสและความหวังของประชาชนแล้ว บึงกาฬยังต้องมีโครงการอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมหลังจากนี้ด้วย เพื่อทำให้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งนี้ถูกเติมเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น โครงการระยะแรกคือสร้างถนน 4 เลนไปยังจังหวัดอุดรธานี ส่วนระยะยาวจะเชื่อมรถไฟมอเตอร์เวย์ไปยังอีสานตอนล่างคือจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาออกไปที่เสียมเรียบ นอกจากนี้ยังจะสร้างความสมบูรณ์ในการเดินทางคงไม่ใช่มีแค่ถนน ยังมีโครงการก่อสร้างสนามบินบึงกาฬอีกด้วยซึ่งระหว่างการศึกษา
รมซ.คมนาคม กล่าวย้ำในการพบปะกับประชาชนว่าบึงกาฬ ต้องมีสนามบิน เพราะจะทำให้สะพานมิตรภาพฯ มีศักยภาพเติมเต็มมากขึ้น คนที่จะใช้สะพานก็จะสามารถมาข้ามสะพานที่จ.บึงกาฬ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเวลามีค่าสำหรับการลงทุน และมีค่าสำหรับทุกคน จึงเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.บึงกาฬ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นโอกาส และความหวังของประชาชนจะสำเร็จได้ ไม่ใช่เพียงภาครัฐเท่านั้น แต่ส่วนที่มีผลต่อความสำเร็จ คือภาคประชาชนต้องเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังการมีสะพานฯ และใช้สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นโอกาสในการพัฒนาด้านอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบึงกาฬ และประเทศไทยต่อไป
สำหรับความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ ขณะนี้การดำเนินการในฝั่งไทย 3 ตอน มีความคืบหน้าตามแผน โดยตอนที่ 1 งานถนนฝั่งไทย คืบหน้า 50.9 % เร็วกว่าแผนเล็กน้อย ตอนที่ 2 งานถนนฝั่งไทย และงานด่านพรมแดนฝั่งไทย คืบหน้า 41.36 % และตอนที่ 3 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย คืบหน้า 18 % ซึ่งมีความช้ากว่าแผนเล็กน้อยจากโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน เครื่องจักร และวัสดุงานก่อสร้างระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและลาว ได้พยายามเร่งรัดให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว สอดคล้อง ใกล้เคียงกับแผนงานที่กำหนดไว้.