นายกฯ ย้ำรัฐบาลวางเป้าแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ในทุกมิติอย่างยั่งยืน
10 ก.ย. 2562, 20:04
วันนี้ (10 ก.ย.62 ) เวลา 13.30 น. ณ บริเวณโถงกลาง ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวถึงการตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งว่า รัฐบาลดูแลเกี่ยวกับภัยพิบัติต่าง ๆ ในทุกเรื่อง ตั้งแต่ระดับนโยบาย ติดตามการแก้ปัญหาหาแนวทางมาตรการใหม่ๆ กำหนดแผนงานโครงการและงบประมาณลงไปสนับสนุนช่วยเหลือในพื้นที่ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในระดับบน ระดับนโยบาย กระทรวงมหาดไทยเป็นประธานดำเนินการในระดับล่างหรือในพื้นที่ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วยเช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ และอ่างเก็บน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ รัฐบาลดำเนินการตามแผนตลอดระยะเวลา 5 ปีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกกิจกรรมเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ส่งผลให้สามารถลดความเสียหายได้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ สาเหตุเกิดจากการที่ฝนที่ตกลงมามากเกินกว่าปริมาณที่เคยมี เช่น ที่จังหวัดยโสธรและจังหวัดอุบลราชธานี ฝนตก 3-5 วัน มีปริมาณฝนตกลงมาถึง 500 มิลิเมตร ซึ่งปกติเฉลี่ยฝนตกทั้งประมาณปี 1,000 – 1,200 มิลิเมตร เท่านั้น จึงทำให้เกิดน้ำท่วมได้โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งส่วนมากเป็นพื้นที่ด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีมาตรการการดูแลเยียวยาขั้นต้นอยู่แล้วตามมาตรการของกระทรวงการคลัง รวมไปถึงการดูแลในเรื่องของการสนับสนุนหาเมล็ดพันธุ์พืชให้ประชาชนนำไปเพาะปลูกตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการพิจารณาอาชีพใหม่ที่เหมาะสมให้กับประชาชนหากยังไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ในฤดูกาลหน้า ซึ่งการลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง ก็เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สำหรับการช่วยเหลือก็มีขั้นตอนต่างๆ อยู่แล้ว อันแรก คือ เยียวยา อันที่สอง คือ ฟื้นฟู และการปรับเพิ่มอาชีพ รวมทั้งการหาแก้มลิงใหม่ๆ การระบายน้ำ ก็ต้องเร่งลงน้ำสาขาและลงแม่น้ำโขง เป็นต้น ซึ่งคณะรัฐมนตรี ก็หาทางแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำถึงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยว่า ต้องดำเนินการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ให้เกิดการทุจริต ข้อมูลต่าง ๆ ต้องตรงกับข้อมูลที่รายงานขึ้นมา เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดความคุ้มค่า