เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สธ. เผยยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้น เหตุผู้สูงอายุ "ไม่รับเข็มกระตุ้น" ตั้งเป้าลดอัตราติดเชื้อเหลือ 0.1%


19 มี.ค. 2565, 19:06



สธ. เผยยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้น เหตุผู้สูงอายุ "ไม่รับเข็มกระตุ้น" ตั้งเป้าลดอัตราติดเชื้อเหลือ 0.1%




เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นนิวไฮ ว่าข้อสังเกตคือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยทรงตัวที่ 2 หมื่นรายต่อเนื่องมาราว 2-3 สัปดาห์ ฉะนั้น ข้อที่ไม่ทำให้กังวลมากเกินไปคือ ตัวเลขติดเชื้อไม่พุ่งสูงมาก หากเปรียบเทียบการระบาดโอมิครอน เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือรอบบ้านเราอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่เมื่อตัวเลขขึ้นจะขึ้นสูงมาก แต่ไทยเราไม่ขึ้นสูงขนาดนั้นเพราะเรามีมาตรการและประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างดี เพื่อชะลอการระบาดให้มากที่สุด ฉะนั้น ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ 90% จะมีอาการน้อย อีก 10% จะมีอาการหนักและในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งที่เสียชีวิต

นพ.โอภาสกล่าวว่า เราก็จะพยายามลดตัวเลขการเสียชีวิตให้ต่ำที่สุด จากการวิเคราะห์พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป รวมถึงเป็นคนที่มีโรคประจำตัว ส่วนหญิงตั้งครรภ์ระยะหลังเสียชีวิตลดลงในระลอกโอมิครอน เมื่อไปดูปัจจัยสำคัญพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับ หรือได้รับเพียง 2 เข็ม ทั้งนี้ คนที่รับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป โอกาสเสียชีวิตมีน้อยกว่ามาก ข้อมูลปัจจุบันผู้ที่รับวัคซีนครบโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าไม่ได้รับถึง 6 เท่า แต่คนที่รับ 3 เข็มแล้วโอกาสเสียชีวิตจะลดลงถึง 41 เท่า

ทาง สธ.จึงมีแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด เนื่องจากระยะหลังพบว่าผู้เสียชีวิตสอดคล้องกับผู้ที่เป็นไตวายเรื้อรัง ที่ฟอกไต ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดเตียง แม้ว่ากลุ่มนี้รับวัคซีนแต่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ค่อยดี เราต้องเร่งฉีดวัคซีนกระตุ้น โดยระยะเวลาฉีดเข็ม 3 คือห่างจากเข็ม 2 เป็นเวลา 3 เดือน และเข็ม 4 ฉีดห่างเข็ม 3 ประมาณ 3-4 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเหมาะสม และขณะนี้ สธ.ได้หายาใหม่เข้ามา เป็นยาที่มีผลวิจัยว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น เช่น แพกซ์โลวิด โมลนูพิราเวียร์ ร่วมถึงความร่วมมือผู้ผลิตยาอื่นๆ ด้วย



หลักการคือผู้ติดป่วยมาก ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น ดังนั้น เราต้องช่วยกันลดผู้ป่วยให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่มีการเดินทาง มีการพบปะ กิจกรรมร่วมกัน เช่น งานเลี้ยง งานทางศาสนา ในการระบาดโอมิครอนเราพบว่าโอกาสที่ 1 คนติดเชื้อแล้วนำเชื้อไปติดคนในบ้านทั้งเด็กและผู้สูงอายุมากกว่าเดลต้า ดังนั้น ช่วงสงกรานต์ก็ขอให้ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อในบ้านด้วย 1.ฉีดวัคซีนคนในบ้าน 2.ผู้สูงอายุรับขับกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 เป็นต้น

เมื่อถามการคาดการณ์ตัวเลขผู้เสียชีวิตในระยะนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า หากดูจากประสบการณ์จากยุโรป อเมริกาใต้ และเกาหลีใต้ พบว่า ตัวเลขพุ่งสูงมากใน 1-2 เดือนแล้วลดลง แต่หากชะลอการระบาดก็จะทอดเวลายาวออกไป แต่เราไม่เลือกให้ตัวเลขพุ่งสูง เพราะจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุขที่รองรับไม่ไหว ก็จะมีผู้เสียชีวิตมาก เช่นฮ่องกงที่ขณะนี้ติดเชื้อพุ่งสูง และมีการเสียชีวิตมากจนคนกลัวสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.2 แต่ในหลักการแล้วการเสียชีวิตมากเกิดจากคนติดเชื้อมากแล้วระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว


ระยะที่ผ่านมาไทยเรายันได้ดี ไม่เกิดสถานการณ์อย่างหลายประเทศ หากถามว่าคาดการณ์อย่างไร คือต้องพยายามให้อัตราติดเชื้อน้อยที่สุด ให้ต่ำกว่า 0.1 หรือ 0.2% ให้ได้ ซึ่งในขณะนี้เราอยู่ที่อัตรา 0.22% และเชื่อว่าหากเราเร่งฉีดวัคซีนในช่วงสงกรานต์ได้ก็จะช่วยลดอัตราเสียชีวิตได้ รวมถึงตามที่เรามียาใหม่เข้ามาก็จะช่วยได้ในอนาคต

เมื่อถามว่าตัวเลขเสียชีวิตที่สูงเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อแผนการปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า แผนการปรับเป็นโรคประจำถิ่นที่ สธ.เสนอต่อ ศบค.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบ คืออย่างช้าที่สุดคือวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มีเวลาอีก 2-3 เดือนในการเตรียมความพร้อม ดังนั้น ช่วงนี้เราต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จัดหายาใหม่ๆ เพื่อปรับแนวทางการรักษา และให้ประชาชนเข้าใจในระบบการดูแล

อย่างนโยบายเจอแจกจบที่ใช้ในกลุ่มผู้รับวัคซีนครบ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว พบว่าเป็นผลดี ประชาชนหลายคนเห็นด้วย รับยาแล้วดูแลตนเองได้ ซึ่งตามข้อมูลจ่ายยา 3 สูตร พบว่าไม่มีอาการไม่ต้องรับยาถึง 50% ใช้ยาฟ้าทะลายโจร 25% และใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 25% ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 เราจะจัดให้กลุ่มสีเหลืองเพื่อรักษาอีกแบบหนึ่ง ขณะนี้เราจึงมีวิธีการรักษาที่เหมาะกับสถานการณ์กับประชาชน






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.