รัฐบาลเผยดูแลปชช.ทุกกลุ่ม ย้ำ 10 มาตรการสู้พลังงานแพง ได้ประโยชน์ 40 ล้านคน
24 มี.ค. 2565, 19:55
วันนี้ ( 24 มี.ค.65 ) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายดนุชา พิทยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมการแถลงข่าว สรุปสาระสำคัญดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง 10 มาตรการระยะสั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศที่มีความจำเป็น ประกอบด้วย มาตรการราคาขายปลีกน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม การดูแลกลุ่มเปราะบาง 5 กลุ่ม กลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มผู้ใช้ไฟรายย่อย กลุ่มนายจ้าง ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ ในการให้บริการประชาชนในอัตราที่ไม่เพิ่มขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในปี 2563 – 2564 การค้าขายในประเทศไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือส่งออกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศ ที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญเกิดการชะลอตัวในการผลิต หลังจากที่สถานการณ์ดีขึ้นประกอบกับการออกมาตรการป้องกันในระดับโรงงาน (Factory Quarantine) จะเห็นได้ว่าในปี 2564 ภาคการส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น มีอัตราการเติบโตในมูลค่าของดอลลาร์สหรัฐประมาณ 17 – 20% ซึ่งในปีนี้คาดว่าตัวเลขการขยายตัวของภาคการส่งออกของไทยจะอยู่ที่ 5 – 10% ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ภาคการค้าขายชายแดนไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านในรอบอาเซียนยังคงพึ่งพาสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ จึงคาดการณ์ได้ว่าภาคการส่งออกรวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ทั้งในการใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปี 2565 ขณะเดียวกันในภาคเอกชนได้มีการระดมทุน โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ทั้งบริษัทที่อยู่ในตลาดและนอกตลาดในปี 2564 ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ภาคการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนทั้งค่ายรถเดิมที่มีอยู่และค่ายรถใหม่ ทำให้เห็นได้ว่าภาคเอกชนยังมีการลงทุนอยู่อย่างต่อเนื่อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวต่อว่า สำหรับเสถียรภาพด้านการคลังต้องดูจากการบริการรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ จากฐานะทางการคลังของรัฐบาล ที่มีตัวเลขล่าสุดใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ ระดับอัตราเงินคงคลังปลายงวดอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท และลดลงมาบ้างตามดุลเงินสดที่ขาดดุลอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นไปตามดุลงบประมาณ โดยในปี 2565 ได้ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 700,000 ล้านบาท ที่มาจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 64 – กุมภาพันธ์ 65) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 901,414 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,429,194 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 394,465 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 418,588 ล้านบาท ขณะที่เสถียรภาพทางด้านราคา สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของแรงงานรวม ทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
ปลัดกระทรวงพลังงานชี้แจงถึงที่มาของสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุมาจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปี 63 ที่นำไปสู่การล็อคดาวน์ในช่วงเดือนเมษายน 63 ส่งผลกระทบถึงความต้องการการใช้น้ำมันโลกที่ลดลง ทุกประเทศมีการล็อคดาวน์และลดการใช้น้ำมัน โดยราคาน้ำมันได้ลดลงถึง 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จนกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันโอเปกประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลงเรื่อย ๆ จนเหลือ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงเมื่อปลายปี 63 ได้มีวัคซีนทำให้เกิดการคลายล็อคดาวน์ เกิดการเดินทาง ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มประเทศน้ำมันโอเปกไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันให้กลับมาเท่าเดิม เพิ่มเพียงแค่ 400,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น ฉะนั้น ความต้องการในการใช้น้ำมันได้เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 64 ทำให้ราคาน้ำมันที่ติดลบเริ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 65 ได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครน เริ่มมีการโจมตีขึ้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 65 ราคาน้ำมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนวันที่ 7 มีนาคม 65 ราคาน้ำมันก็เพิ่มขึ้นถึง 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี จากนั้นผ่อนคลายลงมาที่ราคา 105-115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งในส่วนของน้ำมันดีเซล รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับน้ำมันดีเซลเนื่องจากมีปริมาณการใช้มากที่สุด ในประเทศไทยมีการใช้น้ำมันประมาณ 1 ร้อยล้านลิตรต่อวัน เป็นการใช้น้ำมันดีเซลถึง 65 ล้านลิตร คิดเป็นร้อยละ 65 จากน้ำมันทั้งหมด
เนื่องจากผู้ที่ใช้น้ำมันดีเซล เป็นรถบรรทุกขนส่ง รถกระบะขนส่ง รถโดยสารสาธารณะเป็นต้น และน้ำมันดีเซลก็ถือเป็นต้นทุนหลักที่จะไปเชื่อมโยงกับต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่อเนื่องไปภาคอื่น ๆ อีก ซึ่งถ้าน้ำมันดีเซลราคาสูงก็จะส่งผลต่อภาคการผลิตการบริการขนส่งสาธารณะด้วย จึงต้องดูแลควบคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินราคา 30 บาท ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มีการชดเชย ตรึงราคาน้ำมันดีเซล โดยได้ใช้เงินจนถึงปัจจุบันไปทั้งหมดถึง 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะยังคงตรึงราคาต่อไปจนถึง 30 เมษายน 65 หลังจากนั้นคงจะปล่อยให้มีการขึ้นราคาน้ำมัน แต่คงไม่ปล่อยทั้งหมด อาจมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วย เช่น โครงการคนละครึ่งในการช่วยตรึงราคาครึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องภาวนาให้สถานการณ์ราคาน้ำมันลดลงมาต่ำกว่า 95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยการดำเนินการในส่วนนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องกู้เงินมาดำเนินการ ขณะนี้กำลังหารือกับสถาบันการเงิน และเพื่อเป็นการช่วยอีกทางหนึ่ง กองทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมี่ยม เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้กับกลุ่มรถของผู้ที่มีกำลังการใช้จ่ายสูง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเพื่อลดภาระของกองทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และนำเงินส่วนนี้ไปชดเชยให้กับกลุ่มที่มีความจำเป็นอื่น
สำหรับน้ำมันเบนซินมีผู้ใช้อยู่ร้อยละ 35 ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้พาหนะส่วนบุคคล จะมีการกำหนดมาตรการสนับสนุน ช่วยราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ โดยจะได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาทต่อลิตร จำนวน 50 ลิตรต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้ผู้โดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีจำนวนมากต่อวัน ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะต้องไม่ขึ้นราคาค่าโดยสาร โดยจะต้องประสานงานกับกรมขนส่งทางบกในการควบคุมราคา ซึ่งต้องมีการกำกับดูแลผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะไม่ให้ฉวยโอกาสนี้ขึ้นราคา สำหรับก๊าซหุงต้ม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เข้าไปช่วยตั้งแต่มีนาคม 63 โดยกระทรวงพลังงานได้ดูแลประชาชนที่ใช้ก๊าซหุงต้ม ซึ่งราคาจริงของก๊าซหุงต้ม LPG วันนี้อยู่ที่ 463 บาทต่อถัง แต่รัฐบาลได้ตรึงราคาไว้อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง เท่ากับตรึงราคาไว้ 100 กว่าบาทต่อถัง ส่งผลให้ ณ วันนี้ใช้เงินกองทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อชดเชยส่วนต่างตรงนี้เป็นจำนวน 28,800 ล้านบาท ซึ่งจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เริ่มตรึงราคาไม่ไหว จึงขอตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ 318 บาทต่อถึงจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนจะขึ้นราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม 1 บาทต่อ 1 กิโลกรัม (ปรับเป็นราคา 333 บาทต่อถัง) เดือนพฤษภาคม จะปรับอีก 1 บาทต่อ 1 กิโลกรัม (ปรับเป็นราคา 348 บาทต่อถัง) และเดือนมิถุนายนก็จะปรับเป็น 363 บาทต่อถัง โดยรัฐบาลจะยังช่วยในส่วนต่างของราคาจริงอยู่
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้กำหนดมาตรการในการช่วยดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยในส่วนของกลุ่มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้ส่วนลดของก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น จากเดิม 45 บาทต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน โดยเบื้องต้นจะใช้งบกลาง มาสนับสนุน และ ปตท. จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการให้ส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG กับ ปตท. ไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน ต่อไปอีก 3 เดือน ซึ่งมีประชาชนประมาณ 5,500 คนที่ลงทะเบียนไว้กับ ปตท. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอย สำหรับราคา NGV นั้น จะตรึงราคาขายปลีก 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และสนับสนุนราคาก๊าซ NGV ให้ผู้ขับรถแท็กซี่ ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน โดยจะตรึงไว้ที่ราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ในส่วนของค่าไฟฟ้า ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 จะขึ้นราคา Ft เรียกเก็บ เป็น 24.77 สต./หน่วย ค่าไฟฟ้าฐานรวม Ft = 4.00 บาท/หน่วย ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ Ft เพิ่มสูงสุดที่เป็นได้ 1.2991 บาท/หน่วย ค่าไฟฟ้าฐานรวม Ft = 5.07 บาท/หน่วย ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดูแลในส่วนผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งคนในกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 20 ล้านรายทั่วประเทศ ให้จ่ายอยู่ที่ 1.39 สต./หน่วย ต่อไปอีก 4 เดือน โดยสรุปงบประมาณด้านพลังงานที่ภาครัฐช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่เหตุการณ์โควิดปี 2563 ถึงปัจจุบัน เป็นจำนวน 164,228 ล้านบาท คาดว่าจะใช้งบประมาณอีก 43,602 - 45,102 ล้านบาท ในการดำเนินมาตรการที่กล่าวข้างต้นต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันโดยกระทรวงพลังงานจะออกแคมเปญเพื่อรณรงค์การลดใช้พลังงานต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงมาตรการช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน โดยกระทรวงแรงงานได้มีการออกมาตรการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 นอกจากนี้ นายจ้างจำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 ทำให้ตัวนายจ้างสามารถลดต้นทุนการผลิตลงและตัวผู้ประกันตนเหลือเงินเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการประคองค่าครองชีพ ทั้งนี้ วอนผู้ประกอบการต่าง ๆ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทย ด้วยการประคับประคองในส่วนของราคาสินค้าและตรึงราคาสินค้าไว้ ทั้งนี้ ในส่วนของการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำจะต้องมีการหารือกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล โดยในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน คณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานแรงงานจังหวัดจะดำเนินการสำรวจ และประมวลผลค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณาให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตามหลักการของ ILO ที่ต้องพิจารณาดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพแต่ละจังหวัด ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละจังหวัด ในเดือนกรกฎาคมจะมีการประชุมในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ แล้วทำการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้คณะกรรมการค่าจ้าง ก่อนที่จะให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และจัดการประชุมพิจารณาในเดือนสิงหาคม - กันยายน โดยในกรณีมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานจะลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ด้านผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปภาพรวมประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการมีไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน แบ่งเป็น กลุ่มครัวเรือนทั่วไปที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน กลุ่มนายจ้างและผู้ประกันตน กลุ่มนายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน นางจ้าง 4.9 แสนราย กลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน กลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 3.6 ล้านคน กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 5.5 พันคน กลุ่มขนส่งโดยสารสาธารณะ กลุ่มผู้ใช้ก๊าซ NGV ทั่วไป 3.18 แสนคน ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 1.57 แสนคน และกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน จำนวน 1.7 หมื่นคน อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีการดูแลช่วยเหลือเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงและพลังงานภาคขนส่งและบริการแล้ว นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลไม่ให้มีการขึ้นค่าบริการกับประชาชนที่สูงจนเกินไป เนื่องจากรัฐบาลได้มีการดูแลสนับสนุนในส่วนนี้เพื่อให้ส่งผลทางอ้อมต่อประชาชนทั่วไปด้วย
สำหรับวงเงินและแหล่งเงินจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เป็นองค์กรของรัฐ ที่ใช้ในการดำเนินมาตรการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท มีดังนี้ 1) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินกู้) ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ ลิตร ทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม วงเงิน 39,520 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50 2) กองทุนประกันสังคม (เงินสมทบ) นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 และผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 วงเงิน 35,224 ล้านบาท ร้อยละ 43 3) สำนักงบประมาณ (งบกลาง) ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ากว่า 300 หน่วย ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง วงเงิน 3,740 ล้านบาท ร้อยละ 5 และ 4) บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กก. ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 1,763 ล้านบาท ร้อยละ 2
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวถึงภาพรวมของการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤต 2 ปีที่ผ่านมาที่ได้ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ได้ใช้จ่ายในเรื่องของการช่วยเหลือประชาชนอย่างไรบ้าง โดยภาพรวม ณ วันนี้ มีการช่วยเหลือไปทั้งหมด 1.3 ล้านล้านบาทโดยประมาณ แบ่งเป็นการช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุข 213,581.51 ล้านบาท การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 869,430.94 ล้านบาท และการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและการกระตุ้นการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ 273,508.24 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเราพยายามใช้เงินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า เช่นเดียวกันกับ 10 มาตรการเร่งด่วนที่ได้นำออกมา สำหรับปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จากวิกฤตความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียที่เกิดขึ้น ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สภาพัฒน์ฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้หารือและประเมินสถานการณ์ร่วมกัน จากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านสองช่องทางหลักได้แก่ (1) ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยกรณีที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.0 และ (2) ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเนื่องจากแนวโน้มการลดลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบทั้งจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดในช่วงต้นปี แต่ยังคงเชื่อมั่นว่าจะยังสามารถขยายตัวอย่างน้อยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0
ทั้งนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งเป็นสถานการณ์ที่ยากต่อการคาดการณ์ได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 หน่วยงานได้เห็นร่วมกันคือ สถานการณ์ความขัดแย้งจะยังคงยืดเยื้อไปอีกระยะหนึ่งแน่นอน และคงจะกินเวลายาวนานกว่าจะหาข้อยุติได้ แม้ว่าการสู้รบจะจบลง แต่มาตรการ sanction ก็จะยังคงอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และส่งผลต่อราคาพลังงานด้วยเช่นกัน รวมถึงราคาสินค้าในบางตัว โดยการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าก็อยู่ที่ร้อยละ 24 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด นายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปช่วยกำกับดูแลตรวจสอบราคาสินค้าให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะพวกที่ฉกฉวยโอกาสนี้ในการขึ้นราคา เพื่อให้การขึ้นราคาสินค้าเป็นไปตามที่เหมาะสมจริง ๆ จากข้อมูลที่มีในเดือนมกราคม 65 พบว่าดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีการปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เรื่องของการลงทุนก็ยังอยู่ในระดับดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.8 มูลค่าการส่งออกในช่วงปี 65 จะเป็นเครื่องยนต์เป็นหลัก มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เรื่องของงบลงทุนที่ภาครัฐจ่ายออกไป งบลงทุนมีการเบิกจ่ายค่อนข้างดี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ดัชนีราคาสินค้าเกษตรก็ยังอยู่ในระดับดี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ผลผลิตก็ยังดีอยู่ อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคเอกชนอยู่ที่ร้อยละ 65.9 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65.2 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อัตราการว่างงานภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ซึ่งต่ำสุดในช่วง 6 ไตรมาสที่ผ่านมา ถ้าดูในการว่างงานในระบบ ผู้ว่างงานในระบบประกันสังคม ที่ขอประโยชน์ทดแทนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.25 คิดเป็นจำนวนคนอยู่ที่ประมาณ 2 แสนกว่าราย ซึ่งก็ต่ำที่สุดในรอบประมาณ 4-5 ไตรมาส
สำหรับด้านปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะการผลิตด้านเกษตร โดยเฉพาะวัตถุดิบที่จะต้องนำเข้ามา เพื่อผลิตปุ๋ย มีสัญญาณว่าประเทศต้นทางที่จะนำเข้ามามีการจำกัดการส่งออก เพราะต้องการเก็บวัตถุดิบเพื่อการผลิตในประเทศของตนเอง ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนนี้ก็ได้มีการหารือในคณะทำงานที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายในเรื่องของปุ๋ยและอาหารสัตว์ที่มีแนวโน้มจะขาด และมีแนวโน้มที่ราคาอาจเพิ่มสูงขึ้น ขอให้พยายามใช้วัตถุดิบในประเทศมาใช้ทดแทนให้ได้มากที่สุด ในเรื่องของปุ๋ยจะต้องทำในเรื่องของปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพเพิ่มขึ้น แม้ว่าสัดส่วนการทดแทนไม่เท่ากับปุ๋ยเคมี แต่เป็นการเตรียมความพร้อมประเทศในการก้าวเข้าสู่เกษตรปลอดภัยและลดการปล่อยคาร์บอนในช่วงต่อไปด้วย ในขณะเดียวกันในเรื่องอาหารสัตว์จะต้องมีการพิจารณาในลำดับถัดไป ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ จะต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในตอนท้ายว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย อาจเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต มาตรการการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือจากวิกฤตโลกที่เกิดผลกระทบต่อทุกประเทศ แต่ละประเทศมีมาตรการรับมือที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานภาพของแต่ละประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ดูแล แก้ไข เยียวยาประชาชนในเกณฑ์ระดับดี ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลโดยการนำของคณะรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ เอาใจใส่ ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการดูแลพี่น้องประชาชน ให้บรรเทาผ่านพ้นความเดือดร้อนนี้ไปให้ได้ พร้อมขอความร่วมมือทุกคนในการฝึกฝนพึ่งพาตนเองภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการใช้สินค้าราคาแพงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน อาหารสัตว์ ปุ๋ย ทำทุกวิถีทางในการหาสินค้าที่มีอยู่ภายในประเทศในการใช้ทดแทน พึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เราสามารถอยู่ได้จากความร่วมมือกันของคนในประเทศ พร้อมผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยกัน