เตือน ! "เกษตรกร" ระวังโรคเนื้อเน่า จากพิษยาฆ่าหญ้า เผย! จ.เลย มียอดผู้ป่วยติดอันดับ 1 มา 3 ปีซ้อน
11 ก.ย. 2562, 11:10
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลการเก็บสถิติของผู้ป่วยในโรค Necrotizing Fasciitis โรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า พบว่าจังหวัดเลยมีการยอดของผู้ป่วยอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 อันดับจังหวัดที่อัตราการป่วยโรคเนื้อเน่า ตั้งแต่ปี 2559 -2561 พบผู้ป่วยเผย สาเหตุจากการสัมผัสยาฆ่าหญ้า
นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย เผยว่า จากการดูสถิติที่มีการบันทึกไว้ ก็จะพบว่าจังหวัดเลย มีสถิติของคนไข้กลุ่มโรคเนื้อเน่าในปี 2559 – 2561 มียอดจำนวนผู้ป่วยสูงสุด จากตัวเลขทั้งหมดที่ถูกบันทึกจากโรงพยาบาล แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาจากที่ 3 ปีก่อนหน้านี้มีจำนวนคนไข้มากขึ้น และทางโรงพยาบาลจึงใช้ทรัพยากรกับคนไข้ในโรคนี้เยอะ เพราะเป็นโรคนี้ต้องนอนในโรงพยาบาลนาน อาจจะมีการสูญเสียอวัยวะจากการตัดเท้า ตัดแขน ตัดขา หรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยมีแนวโน้มคนป่วยในจังหวัดเลยสูงจริง แต่ไม่แน่ใจว่าสูงสุดในประเทศหรือเปล่า เท่าที่ดูภาพรวมยังไม่มีหน่วยงานไหนมายืนยัน แต่ดูได้จากฐานข้อมูลแต่ละโรงพยาบาลเท่านั้น
ในส่วนการเกิดโรคซึ่งดูข้อมูลตามวิชาการ กรมควบคุมโรคเกิดจากการสัมผัสการใช้สารเคมีของเกษตรกร ซึ่งอาจไม่โดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดโรคนี้มากขึ้น กับการใช้สารเคมีในเกษตรกรและช่วงนี้ซึ่งเป็นฤดูการทำนา การทำเกษตร ขณะนี้ทาง สสจ.เลย ได้เร่งประชาสัมพันธ์กับกลุ่มเสี่ยงที่เกิดโรคเนื้อหนังเน่า โดยได้ใช้การประชาสัมพันธ์เป็นหลักและกระตุ้นให้ อสม.ได้สร้างการปฎิบัติการเบื้องต้นในกลุ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ การมีบาดแผลเกิดขึ้นโดยเฉพาะหน้าฝน แต่ทั้งนี้อีกอย่างพี่น้องประชาชนยังไม่ค่อยตระหนักในเรื่องของความเสี่ยงของโรคนี้นัก
ด้านนางพิมพ์ธิดา บุญวงค์ ผอ.รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ก้างปลา กล่าวว่า ในตำบลได้มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเนื้อหนังเน่า ส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยได้ไปสัมผัสกับสารเคมีที่เขาทำงาน เช่นไปลุยน้ำ ไปทำนา แค่มีบาดแผลเล็กน้อยและไปสัมผัสสารเคมีอย่างยาฆ่าหญ้า และก็เป็นส่วนใหญ่ในตำบลนี้มีการใช้ยาฆ่าหญ้ากันในค่อนข้างจะเยอะ พอได้สัมผัสสารพวกนี้จากแผลเล็กๆก็จะเกิดบวมและมีการอักเสพอย่างรุนแรง และต้องรีบนำส่ง รพ. ซึ่งขณะนี้ทางรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้ทำโครงการป้องกันโดยคัดกรอง เจาะเลือดหาสารเคมีให้กับเกษตรกร ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสัมผัสกับสารเคมี เช่นพ่นยาฆ่าหญ้า หรือรดยาฆ่าหญ้า หรือไปสัมผัสกับน้ำที่มีสารเคมีรอบบริเวณ เราได้ทำทุกหมู่บ้านในตำบล เพราะเกษตรกรยังมีใช้สารเคมีจำนวนนี้ค่อนข้างเยอะในตำบล
ส่วนนางบัวผัน สุจิมงคล ผู้ป่วยเป็นโรคเนื้อเน่า เล่าว่า วันที่ตนเป็นตอนแรกได้มีแผลนิดเดียวบริเวณเท้า ตนได้ออกไปเก็บลำไย และใต้ต้นลำไยได้มีลูกหลานได้พ่นฉีดยาฆ่าหญ้าไว้ เท้าตนไปสัมผัสยอดหญ้าที่แห้งตายกับสารเคมี กลับมาบ้านก็มีอาการปวดแผลมาก จนต้องนำส่ง รพ. และพบว่าตนได้เป็นโรคเนื้อเน่า จนได้รับการผ่าตัดเอาหนังเนื้อที่เน่าออกจำนวนหลายครั้ง ป่วยไปกับโรคนี้รักษากว่า 3 เดือนถึงจะหาย เจ็บปวดทรมานมาก มีเพื่อนๆที่ไปรักษาพร้อมกัน บางคนได้ติดเชื้อเข้าไปในกระแสเลือดตายไปก็มี จึงอยากจะวิงวอนขอให้งดการใช้สารเคมีพวกนี้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก จากแผลนิดเดียวกลายเป็นเหวะหวะ อันตรายถึงชีวิต