องคมนตรี ลงพื้นที่จ.อุตรดิตถ์ ติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9
11 ก.ย. 2562, 20:54
วันนี้ ( 11 ก.ย.62 ) นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าและรับฟังบรรยายสรุปแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีฯ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่แปลงอพยพจากพื้นที่ถูกนํ้าท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์ และขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร กรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีฯ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เมื่อ พ.ศ. 2555 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบส่งน้ำให้กับแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อทำการเกษตรในพื้นที่ประมาณ 8,600 ไร่
โดยมีแผนการก่อสร้างโครงการรวม 11 ปี เนื่องจากพื้นที่โครงการฯ อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1A ดังนั้น จึงต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งหมด 27 แผน ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ถึง พ.ศ.2564 และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 53,500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอท่าปลา จำนวน 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลจริม, ตำบลท่าปลา, ตำบลหาดล้า, ตำบลร่วมจิต, ตำบลน้ำหมัน, และอีก 4 ตำบลของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ได้แก่ ตำบลหาดงิ้ว, ตำบลบ้านด่าน ตำบลแสนตอ และตำบลวังดิน รวมถึงประโยชน์ทั้งด้านการประมง การท่องเที่ยว และการเลี้ยงสัตว์ได้อย่างสมบูรณ์ ในการนี้ องคมนตรี และคณะฯ ได้พบปะเยี่ยมราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ อีกด้วย
ต่อมาเวลา 13.30 น. องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 13 อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเชิญอุปกรณ์เครื่องเขียนพระราชทานไปมอบแก่นักเรียน จำนวน 174 ชุด พร้อมทั้งกล่าวให้โอวาท และเยี่ยมชมการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และผลงานของนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 13 มีเขตบริการครอบคลุม 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านงอมถ้ำ บ้านงอมมด บ้านห้วยไผ่ บ้านงอมสัก เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีบุคลากรทางการศึกษา รวม 19 คน นักเรียน จำนวน 171 คน โรงเรียนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสถานศึกษา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของนักเรียน ชุมชน โดยมีศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านเกษตรกรรมพืช เช่น การปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ พืชสวนครัว พืชไม้ผลกินได้ ปลูกผักกางมุ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง จนประสบผลสำเร็จส่งผลให้เป็นที่ยอมรับและได้รับรางวัลการประเมินโรงเรียนรักษ์โลก Low carbon school ปี 2561 และปี 2562 อีกด้วย
จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ เดินทางต่อไปยังเขื่อนสิริกิติ์ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อรับฟังการรายงานการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์ สถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และผลการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่สำนักชลประทานที่ 3 เขื่อนสิริกิติ์ มีลักษณะเป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาขนานนามเป็นชื่อเขื่อน
โดยวันที่ 4 มีนาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนสิริกิติ์ และโรงไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ เขื่อนสิริกิติ์สร้างปิดกั้นลำน้ำน่านที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเขื่อนดิน แกนกลางเป็นดินเหนียว สูง 113.60 เมตร ยาว 810 เมตร กว้าง 12 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุของอ่างมากเป็นลำดับที่สาม รองจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนภูมิพล
โรงไฟฟ้าดำเนินการก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวม 4 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 500,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,245 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง นอกจากนั้น น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยออกไปยังพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยา ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และอ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บกักน้ำที่อาจจะไหลบ่าลงมา ช่วยลดการเกิดอุทกภัย ในทุ่งราบ สองฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร ในด้านการท่องเที่ยว เขื่อนสิริกิติ์มีทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาว ความเงียบสงบของบรรยากาศประกอบกับพืชพันธุ์ ไม้ที่งามสะพรั่ง เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนไม่ขาดสาย
ในปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 5, 282 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่าง เก็บน้ำ ซึ่งในช่วงของปลายฤดูฝนยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีก เพื่อเป็นน้ำต้นทุนสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และบริหารจัดการสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในฤดูแล้งต่อไป