นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ ยกระดับทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้ประชาชน
4 เม.ย. 2565, 14:28
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (4 เมษายน 2565) เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ “โครงการเผยแพร่และกระตุ้นการรับรู้พร้อมยกระดับทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจยุค New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 : HACKaTHAILAND” ผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ “New Normal : Digital Possibilities” พร้อมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล Prime Minister’s Digital Awards 2021 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์ความก้าวหน้ามาโดยตลอด พร้อมแสดงความยินดีกับหน่วยงานและผู้ที่ได้รับรางวัล Prime Minister’s Digital Awards ทั้ง 5 สาขา ที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลที่เป็นประโยชน์มาช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2570 แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีโรคอุบัติใหม่คือโรคโควิด-19 รวมทั้งสถานการณ์การสู้รบในต่างประเทศ รัฐบาลจึงได้ปรับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ภายใต้นโยบายหลักของรัฐบาล 12 ด้าน นโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน และเร่งส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาใน 6 ยุทธศาสตร์ ที่เป็นกรอบการเดินหน้าประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะมีเหตุหรือภาวะคุกคามจากปัจจัยภายนอก เช่น โรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อน ปัจจัยภายใน หรือผลกระทบจากเรื่องราวต่าง ๆ โดยรัฐบาลได้พยายามปรับแก้และดำเนินการอย่างดีที่สุด
นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์การดำเนินงานทั้ง 6 ด้านของรัฐบาล ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง ซึ่งในปัจจุบันคนไทยจำนวนมากใช้สื่อดิจิทัล และสื่อออนไลน์ โดยมีคนไทยใช้โซเชียลมีเดียมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และจากมาตรการล็อกดาวน์เป็นตัวเร่งให้คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบก้าวกระโดด จนเริ่มมีข่าวภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นมากมาย เพราะมีผู้ไม่หวังดีนำมาใช้ในทางที่ผิด เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังระบาดหนัก หวยออนไลน์ พนันออนไลน์ และ Fake news เป็นต้น ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่รัฐบาลรับทราบถึงปัญหาและพยายามเร่งดำเนินการแก้ไข โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนให้รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทางที่เหมาะสม ให้รู้จักรับมือกับภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยลูกหลาน Gen Y, Gen Z ช่วยสอนให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่คนเปิดรับปรับใช้ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs กลุ่มเกษตรกร ปรับเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัล โดยมีผู้ประกอบการดิจิทัลหรือดิจิทัลสตาร์ทอัพ เป็นกำลังสำคัญที่มีส่วนช่วยภาครัฐในการนำดิจิทัลมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนไทยน่าจะสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ การปรับตัวอย่างรวดเร็วของภาคประชาชนที่สามารถใช้แอพพลิเคชันการเงินที่ให้บริการผ่านมือถือได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ประกอบกับความร่วมมือกับภาคธุรกิจในการปรับมาใช้ระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัส ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเว้นระยะห่าง และลดการสัมผัสเงินสดซึ่งอาจเป็นตัวกลางแพร่กระจายเชื้อ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญต่อสุขภาพและความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยรัฐบาลได้สร้างการรับรู้เรื่องดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง สร้างการรู้เท่าทันและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงการส่งเสริมทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้กับเด็กและเยาวชน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในการปรับระบบการเรียนการสอนมาเป็นระบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การสร้างแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะแรงงานทักษะดิจิทัลขั้นสูง เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักพัฒนาหุ่นยนต์ เป็นต้น ด้วยการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผ่านการอบรมและฝึกงานผ่านหลักสูตรที่ภาคเอกชนมาช่วยออกแบบหลักสูตร เพื่อให้ผลิตแรงงานที่มีทักษะตรงตามตลาดต้องการ ธุรกิจไม่ขาดคน และแรงงานมีงานทำ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้เร่งส่งเสริมการพัฒนาเครือข่าย 5G นำร่องในพื้นที่ EEC เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และขยายผลการนำ 5G ไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งจะมีการขยายไปในทุกพื้นที่ทั่วประเทศในโอกาสต่อไป โดยเฉพาะการนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องสาธารณสุข สุขภาพอนามัย การให้คำปรึกษาและการรักษาพยาบาลทางออนไลน์ หรือ Telemedicine ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อความปลอดภัยทั้งหมอและคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ลดการเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง ลดเวลาในการเดินทางเข้าพบแพทย์ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ มาใช้ในด้านสาธารณสุขมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยให้ความสำคัญทั้งกลุ่มเมืองเดิม โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูเมืองเดิม พัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจริยะ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม ลดความแออัด มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง พลังงาน และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการพัฒนาและเพิ่มเติมเมืองที่มีอยู่เดิมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม และกลุ่มเมืองใหม่ โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองใหม่ พัฒนาก่อสร้างพื้นที่เมืองขึ้นใหม่ทั้งหมดในเขตพื้นที่ เพื่อให้เป็นเมืองที่ทันสมัยระดับโลก เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคม การค้าการลงทุน การวิจัยพัฒนา ไปจนถึงการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลอย่างบูรณาการและเชื่อมโยง
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอดในการปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เป็นระบบ มีเอกภาพมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมแบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ การจัดหาแหล่งน้ำทั้งบนดิน ใต้ดิน การจัดหาน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ได้แก่ ผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำในรูปแบบวันแมป ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน National Thai Water รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เกษตรในทุกรูปแบบ ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยเกษตรกรที่ทำการเกษตรนอกพื้นที่เขตชลประทาน โดยการใช้น้ำฝนเป็นหลัก และจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนและสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้และพัฒนาในการทำเกษตรกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารภาครัฐ โดยภาครัฐมีการใช้ประโยชน์จาก Big Data มากขึ้น เพื่อเข้าใจความต้องการและยกระดับการให้บริการประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น โดยรัฐบาลเร่งผลักดันให้ภาครัฐทุกกระทรวงและหน่วยงานในสังกัด จัดทำข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data และทำบัญชีข้อมูลเพื่อรวบรวมข้อมูลและนำข้อมูลต่าง ๆ มาเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ใช้ประกอบการตัดสินใจ การดำเนินงาน และการให้บริการประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยส่วนราชการทุกระดับ ทุกพื้นที่ ต้องเรียนรู้และปรับกระบวนการทำงานเพื่อให้สามารถนำข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ มาบูรณาการใช้ประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง ประชาชน และประเทศชาติ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคิด ช่วยกันดำเนินการ เพราะการยกระดับทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเรื่องอนาคตของประเทศ กำหนดเป้าหมายอนาคตร่วมกัน ร่วมเดินหน้าประเทศตามแผนพัฒนาฯ เป็นช่วง ๆ อย่างมีเป้าหมาย และต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการก้าวไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ในอีก 5 ปีข้างหน้า คนไทยทุกคนต้องมีความพร้อมในการก้าวต่อไปในอนาคต ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมไว้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาดิจิทัลของอาเซียน (ASEAN Digital Hub) การขับเคลื่อนการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร ชุมชน หรือ เรียกว่า Digital Transformation และความพร้อมเรื่อง Big Data รวมทั้งการสร้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล การสร้างผู้เชี่ยวชาญดิจิทัลทักษะสูงให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ ภาครัฐ เอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดต้องร่วมมือกันพัฒนา ร่วมด้วยช่วยกันเตรียมความพร้อมในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน เช่น การแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ พยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่เป้าหมายการเป็น Digital Thailand ที่มีระบบนิเวศที่มีความพร้อม มีพลวัต มีความยืดหยุ่น พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งทางความคิด มีความรัก ความสามัคคี ใช้ประโยชน์จาก Soft Power ที่มีอยู่อย่างมากมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้ได้ด้วยความปลอดภัยทางเทคโนโลยี พร้อมขอให้ทุกคนทำงานเชิงรุก ช่วยกันมองอนาคต และสร้างเครือข่าย ความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้กับประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่การเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตลอดไป
ทั้งนี้ โครงการ HACKaTHAILAND เป็นโครงการเผยแพร่และกระตุ้นการรับรู้ พร้อมยกระดับทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจยุค New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 สร้างความตระหนักและส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจของกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดชุมชนและการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา นักลงทุน ชุมชน และภาครัฐ สนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงความรู้และยกระดับทักษะดิจิทัล ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ โดยได้มีการพัฒนาหลักสูตรระดับพื้นฐานและหลักสูตรระดับกลาง เพื่อ Upskill Reskill และเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำพาประเทศเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ตามนโยบายด้านดิจิทัลและแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล