เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ด่วน! ไทยพบ "โควิดพันธุ์ใหม่" 1 ราย - สายพันธุ์ลูกผสม XJ อีก 1 ราย ข้อมูลยังไม่ชัด !


4 เม.ย. 2565, 15:38



ด่วน! ไทยพบ "โควิดพันธุ์ใหม่" 1 ราย -  สายพันธุ์ลูกผสม XJ อีก 1 ราย ข้อมูลยังไม่ชัด !




เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีองค์การอนามัยโลกระบุถึงเชื้อโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.1 ผสมกับ BA.2 เรียกว่า XE และล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่า พบในประเทศไทยแล้ว 1 ราย ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 เกือบ 2,000 ราย พบว่าเป็นเชื้อเดลต้าเพียง 3 ราย นอกนั้นเป็นเชื้อโอมิครอน สอดคล้องกันอัตราส่วนการติดเชื้อในภาพรวมที่เป็นเชื้อโอมิครอน ร้อยละ 99.8 คือ แทบไม่มีสายพันธุ์อื่นหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ การจำแนกสายพันธุ์ย่อยโอมิครอนที่พบในประเทศไทย เป็น BA.1 ร้อยละ 7.8 BA.2 อีก ร้อยละ 92.2 และจนถึงขณะนี้ยังไม่มี BA.3 ในประเทศไทย

“โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 มีความเร็วในการแพร่เชื้อมากขึ้น ดังนั้น วันนี้เราจึงมีโอกาสติดเชื้อง่ายและไวขึ้น ขณะที่ ข้อมูลของประเทศอังกฤษที่พบการระบาดสายพันธุ์หลักคือ BA.2 พบว่าแพร่เร็วชัดเจน แต่ยังมีข้อมูลไม่มากพอว่า หลบภูมิคุ้มกันหรือมีความรุนแรงมากขึ้น”



สำหรับการกลายพันธุ์ของไวรัสนั้น มีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นธรรมชาติของไวรัส สำหรับเชื้อโอมิครอน ที่มีการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ย่อยด้วยกัน แต่มีรหัสพันธุกรรมที่ต่างกันออกไปแม้ว่าจะเป็นการผสมในสายพันธุ์ย่อยเดียวกัน และพบเจอในต่างประเทศกัน เช่น XE เป็นการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.1 กับ BA.2 หรือ XF ผสมระหว่างเดลต้ากับ BA.1 หรือ XG , XH หรือ XJ ที่เป็นการผสมระหว่าง BA.1 กับ BA.2 ทั้งนี้ ตามที่ศูนย์จีโนมฯ ระบุว่าพบสายพันธุ์ XE ในประเทศไทย 1 ราย ก็ถือว่าเป็นการเข้าได้กับ XE ส่วนรายละเอียดจะต้องถามจากห้องปฎิบัติการ (แล็บ) ที่ตรวจพบ ส่วนที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจ พบว่ามี 1 ราย ใกล้เคียงและมีโอกาสจะเป็นพันธุ์ผสม XJ ที่เป็น BA.1 ผสมกับ BA.2 เหมือนกัน โดยสายพันธุ์นี้พบมากที่ประเทศฟินแลนด์

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายไทย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานขนส่ง ระบบออนไลน์ ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ซึ่งด้วยอาชีพ ที่มีความเสี่ยงในการพบคนมาก ก็อาจจะเกิดการติดเชื้อใน BA.1 กับ BA.2 จนทำให้ไวรัสรวมเป็นสายพันธุ์ใหม่นี้ขึ้นมา โดยรายนี้พบเชื้อเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565


“ขณะนี้หายดีแล้ว โดยตอนที่ติดเชื้อก็ไม่มีอาการป่วยอะไร ดังนั้น การจะระบุว่าสายพันธุ์ใดมีอาการสังเกตอะไร จะต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ จึงจะระบุได้ว่ามีเปอร์เซ็นต์ของอาการอะไรมากกว่า เช่น อาจมีไข้น้อยกว่านิดหน่อย หรือเจ็บคอมากกว่านิดหน่อย แต่คงไม่สามารถนำมาใช้แยกอาการกับสายพันธุ์ได้ นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 ราย แต่ข้อมูลยังไม่พอ เพราะตัวอย่างเพิ่งส่งมาวันที่ 3 เมษายน แต่จากข้อมูลเบื้องต้นมีโอกาสที่จะเป็นรีคอมบิแนนท์ (recombinant) พบร้อยละ 60 จึงยังสรุปไม่ได้ ต้องรอรายละเอียดก่อนสรุปต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเชื้อโอมิครอน ติดง่ายมาก เพียงแต่ความรุนแรงลดลง ดังนั้น จึงขอให้ระมัดระวัง อย่าไปเชื่อว่าปล่อยให้ติดไปให้หมด แบบนี้ไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยให้ติดเชื้อมากๆ โอกาสกลายพันธุ์มีสูง และก็ไม่รู้ว่าหากกลายพันธุ์แล้ว รุนแรงก็จะมีปัญหาได้ แต่โดยธรรมชาติวันนี้ ความรุนแรงลดลง เพียงแต่ยังแพร่เร็ว และจากการติดเชื้อขณะนี้ค่อนข้างเร็ว จึงต้องขอให้พึงสังวรณ์ว่า เมื่อเชื้อแพร่เร็ว โอกาสติดเชื้อก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น อะไรเลี่ยงได้ ป้องกันได้ ขอให้ทำ หลายคนอยากถอดหน้ากากอนามัย ขออย่าเพิ่งทำ อย่าไปรับประทานอาหารร่วมกันมากๆ






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.