อาจารย์ ม.มหิดลกาญจน์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมฯ เสนอ 7 ทางเลือก เผาถ่านลดผลกระทบควันพิษ
5 เม.ย. 2565, 16:58
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เสนอแนวทาง จัดการควัน ที่เกิดจากการเผาถ่าน จากกรณี ที่มีชาวบ้าน ได้มีการแจ้งปัญหาไปที่ให้ผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยแก้ปัญหา กรณี มีการเผาถ่าน แล้วควันไปรบกวน บ้านข้างเคียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอริกา พฤฒิกิตติ ได้กล่าวเสนอแนวทางในเรื่องนี้ ว่า “ ไม่มีใครปฏิเสธหมูปิ้งถ่านไม้หอม ๆ กับข้าวเหนียวร้อน ๆ เชื้อเพลิงถ่านไม้นิยมใช้ในการทำอาหารเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอมน่าทาน
นอกจากนี้ หลังฤดูเก็บเกี่ยวมีชีวมวลตกค้างในแปลงเกษตรจำนวนมาก หากสามารถนำไปเผาทำถ่านได้ก็คงดีไม่น้อย แต่การเผาถ่านก่อให้เกิดก๊าซพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและมีกรณีการร้องเรียนผลกระทบของชุมชนจากการเผาถ่านจำนวนมาก ในเนื้อไม้จะประกอบด้วยส่วนประกอบของแร่ธาตุและสารต่าง ๆ เมื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิง แร่ธาตุและสารต่าง ๆ จะระเหยออกมาในรูปของไอร้อน กลิ่น และควัน สารทาร์ (Tar) ซึ่งวงการแพทย์ยอมรับว่าสารทาร์ (Tar) คือสารก่อมะเร็งตัวหนึ่ง (กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2555) ทำอย่างไรเราจะหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพจากการเผาถ่านได้ ควันพิษจากการเผาถ่านถูกปล่อยออกมาและลอยไปตามกระแสลม แพร่กระจายไปทั่ว เจ้าของกิจการเผาถ่านควรตระหนักถึงผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ ใส่ใจชาวบ้านโดยรอบเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง มีข้อแนะนำในการปรับปรุงการเผาถ่านเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนดังนี้
1.เลือกช่วงเวลาเผาในเวลาที่ควันลอยสูง เวลาที่ควันลอยสูงถือเป็นเวลามงคลสำหรับการเผาถ่าน ช่วงเวลานี้พิจารณาจากกลางวัน แดดดี ฟ้าโปร่ง ลมสงบ หลีกเลี่ยงปล่อยควันช่วงกลางคืนหรือลมแรง เพราะอากาศจะจมตัว
2.เลือกไม้ที่แห้ง(ความชื้นต่ำกว่า 20%) เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-6 เซ็นติเมตร
3.เลือกสถานที่เผาถ่านให้ไกลจากชุมชน
4.ฉีดสปริงเกอร์รอบบริเวณเตาเผาเพื่อดักจับฝุ่นและควันที่ปล่อยออกมา
5.ปลูกต้นไม้สูงบริเวณเขตเชื่อมระหว่างเตาเผาและชุมชน อาจต้องรอเวลาต้นไม้โต รีบปลูกเลยนะ
6.ดักเก็บน้ำส้มควันไม้ทางปล่องที่ควันออก สามารถลดความเป็นพิษจากควันที่ปล่อยออกมาได้ และยังได้น้ำส้มควันไม้สำหรับใช้กำจัดศัตรูพืชได้ด้วย
7.ปรับเปลี่ยนการเผาในที่โล่งแจ้ง เป็นเผาในที่ปิด เช่น เตาดินเหนียว เตาอิฐ เตาถังน้ำมัน 200 ลิตร เป็นต้น อาจลองเพิ่มการเผาควัน โดยควันจากการเผาไม้จะถูกกลับเข้าไปเตาเผาอีกครั้ง เทคโนโลยีนี้สามารถลดควันและก๊าซพิษจากการเผาควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดในการออกแบบเตาเผาแบบปิดที่มีควันน้อยสามารถสืบค้นออนไลน์ทั่วไป สามารถดูตัวอย่างได้ต่อไปนี้ ทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ข้อแนะนำ 7 ข้อนี้ หากทำได้ทุกข้อถือว่ายอดเยี่ยม ได้ถ่านคุณภาพดี ได้น้ำส้มควันไม้ และชุมชนมีความสุข นอกจากนี้ สำหรับวิธีการ และขั้นตอนการดำเนินการเรื่องเตาเผาถ่าน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้รวมข้อมูล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น วีธีการและขั้นตอนการเผาถ่าน ได้ทั้งถ่านและน้ำส้มควันไม้ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ เตาเผาแบบชีวมวลไร้ควัน โดยจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย รวมทั้งเอกสารแบบออนไลน์ วิธีการสร้างเตาเผา ไร้ควัน ซึ่งข้อมูล ได้มีการศึกษาทดลองและสามารถทำได้จริง มาเป็นข้อมูลให้กับผู้สนใจ ได้ศึกษาเรียนรู้ และประโยชน์กับประชาชนและผู้ที่สนใจต่อไป ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ อ้างอิงกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2555) คู่มือวิชาการ เรื่อง แนวทางการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภท การเผาถ่านหรือการสะสมถ่าน สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก จำนวนหน้า 110 หน้า
เกษตรนานา (2564) เทคนิคการเผาถ่าน แบบชีวมวลไร้ควัน สืบค้นได้จาก https://www.kasetnana.com/2021/3825
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (2559) เตาเผาถ่าน 200 ลิตร สืบค้นได้จากhttps://engineer.mju.ac.th/wtms_webpageDetail.aspx?wID=1260
คู่มือการสร้างอุปกรณ์เทคโนโลยีพลังงานทดแทน (ไม่ระบุวันที่) เตาเผาถ่าน 200 ลิตร สืบค้นได้จากhttps://amnatcharoen.energy.go.th/ คลิ๊กลิงค์ https://shorturl.asia/o5mPJ