"ประยุทธ์" ยันรัฐให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตในทุกด้าน-ห่วงคนติดโซเชียลเป็นโรคเครียด
12 ก.ย. 2562, 11:35
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคนวัยทำงานในสถานประกอบการ ระหว่าง 7 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน
พร้อมเปิดตัวแนวทาง 10 แพคเกจ ส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ลดพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ ต่อการเกิดโรคเรื้อรังและโรคจากการประกอบอาชีพ ซึ่งการทำงานร่วมกันครั้งนี้ เป็นการลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ โดยปรับปรุงฐานข้อมูลสารสนเทศ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การลงนามวันนี้เพื่อนำร่องไปสู่เรื่องอื่น เพราะสุขภาพที่แข็งแรง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนมีความสุข รัฐบาลส่งเสริมสุขภาพทุกช่วงวัยทั้งกายและใจ
ที่ผ่านมาไทยได้รับการจัดอันดับการประเมินสุขภาพ เป็นอันดับ 6 ของโลก จากทั้งหมด 89 ประเทศที่เข้ารับการประเมิน ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าไทยทัดเทียมกับต่างประเทศ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ เริ่มต้นมาตั้งแต่สถาบันที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ รัฐบาลต่างๆ ได้ขับเคลื่อนต่อและส่งต่อมายังรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งทุกอย่างก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ โดยวันนี้ต้องดูแลสังคมสูงวัยให้ดีและถ้าเศรษฐกิจดีก็จะมีงบประมาณมาดูแลประชาชน ซึ่งคนในวัยทำงานเป็นกำลังสำคัญของประเทศและภาคธุรกิจ ที่ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้ดีขึ้นด้วย เพราะทุกคนมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสังคม สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกด้านของคนวัยทำงาน 51 ล้านคน โดยต้องเริ่มต้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาและเงินในการรักษา เพราะฉะนั้นต้องลดอัตราความเจ็บป่วย เพราะจะช่วยลดงบประมาณให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ
สำหรับการลงนามวันนี้ ต้องนำไปปฎิบัติให้ได้และต้องมีเป้าหมาย กรอบระยะเวลาที่ดำเนินการและติดตามผลสัมฤทธิ์ อีกทั้งต้องเตรียมคนไทยให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ รวมถึงภัยธรรมชาติ ทั้งนี้มีความเป็นห่วงที่คนยุคปัจจุบัน เป็นโรคที่ติดโซเชียลมีเดีย เพราะอาจทำให้เกิดความเครียด ซึ่งสื่อมวลชน ถือว่ามีส่วนช่วย อย่าทำให้สังคมเกิดความเครียดและอย่าให้เสียชื่อเสียงของประเทศ