เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"บิ๊กป้อม" กำชับเร่งบริหารแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งไปพร้อมกัน ยันต้องไม่มีพื้นที่แล้งซ้ำซาก


12 ก.ย. 2562, 14:16



"บิ๊กป้อม" กำชับเร่งบริหารแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งไปพร้อมกัน ยันต้องไม่มีพื้นที่แล้งซ้ำซาก




วันนี้ ( 12 ก.ย.62 ) พลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รรองนายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/62 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามงานปี 2562 และปรับแผนบริหารจัดการน้ำ ปี 2563 ซึ่งที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการสำคัญปี 2562 ที่รัฐบาลทุ่มงบกลางกว่า 19,000 ล้านบาท ลงแก้ปัญหาฉุกเฉินในการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำและเพิ่มต้นทุนน้ำ จำนวน 144 โครงการ โครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 30,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งงบประมาณที่กระจายให้ทุกจังหวัดแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย และรับทราบรายงานความก้าวหน้าของโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน การขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับพัฒนาแหล่งน้ำ 85 โครงการ พร้อมทั้งเห็นชอบโครงการก่อสร้างอุโมงระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย และโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปี 2563 ประกอบด้วย 28 หน่วยงาน จำนวน 57,975 โครงการ วงเงินกว่า 3.1 แสนล้านบาท ที่กระจายลงทุกภาคทั่วประเทศและเห็นชอบกรอบโครงสร้างการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและกองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ( War Room ) ที่มี สทนช. รับผิดชอบ

พลเอก ประวิตร กำชับขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น้อมนำพระราโชบายรัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด มาดำเนินงานโดยเฉพาะ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) เป็นหลัก เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ร่วมกันบริหารจัดการน้ำเชิงรุก ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งไปพร้อมกัน โดยต้องเก็บสถิติและพยายามบริหารจัดการลดความเสียหายจากน้ำท่วมเป็นพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งการบริหารจัดการลุ่มน้ำหลัก ควบคู่กับเร่งจัดทำแหล่งเก็บน้ำอุปโภคบริโภคผิวดินในแต่ละชุมชน โดยเร่งจัดทำแก้มลิง ฝายชะลอน้ำในลำน้ำต่างๆ และการผันน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้มากที่สุดในทุกโอกาส โดยต้องหยุดปัญหาพื้นที่แล้งซ้ำซากให้ได้โดยด่วน พร้อมกันนี้ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบสถานการณ์น้ำและมีส่วนร่วมบริหารจัดการไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีประชาชนได้รับผลกระทบ  

ขณะเดียวกัน ให้เร่งดำเนินการตามกรอบแผนงานที่กำหนด โดยต้องพยายามขับเคลื่อนดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน คือ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นนำ้ที่เสื่อมโทรมและป้องกันการทลายของดิน รวมทั้งการบริหารจัดการและย้ำว่ารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณ กระจายแก้ปัญหาน้ำลงทุกพื้นที่และจะติดตามขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด โดยต้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรมกับประชาชนในพื้นที่ปี 2563









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.