เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



รพ.ราชวิถี โชว์ความสำเร็จรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน หนัก 300 กก. เหลือ 163 กก. ใน 6 เดือน


11 เม.ย. 2565, 15:27



รพ.ราชวิถี โชว์ความสำเร็จรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน หนัก 300 กก. เหลือ 163 กก. ใน 6 เดือน




วันนี้ ( 11 เม.ย.65 ) ที่ห้องประชุมราชวิถี ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ โรงพยาบาลราชวิถี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกับ นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และคณะแพทย์ผู้รักษา แพทย์หญิงนวพร นภาทิวาอำนวย เเพทย์เเผนกต่อมไร้ท่อเเละโภชนบำบัด และ นายแพทย์เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ เเพทย์แผนกศัลยกรรม แถลงผลการรักษาผู้ป่วยหญิงโรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม หลังจากเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถีจากการเป็นโรคอ้วน ขณะนี้ทีมแพทย์พร้อมอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการที่กรมการแพทย์ได้รับการประสานว่ามีผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีภาวะคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ ภาวะหยุดหายใจตอนนอน ภาวะหัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด และหายใจเหนื่อย มีน้ำหนักตัวกว่า 300 กิโลกรัม ร่วมกับมีอาการเคลื่อนไหวตัวลำบาก มีแผลกดทับ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร่วม เช่น โรคหัวใจเเละหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันสูง อยู่ที่ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ เพื่อนำตัวผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี หลังจากรักษาตัวมานานกว่า 6 เดือน พบว่า น้ำหนักตัวลดลงมาก ซึ่งแพทย์ได้รักษาด้วยวิธีการควบคุมอาหาร โดยได้ร่วมกับนักกำหนดอาหาร (Dietitian) ปรับเมนูอาหารให้เหมาะสม ทำให้น่ารับประทาน ออกกำลังกาย การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะผ่านกล้อง (Laparoscopic sleeve gastrectomy) และการทำกายภาพบำบัด รวมทั้ง ได้ติดตามอาการเรื่อยมาจนน้ำหนักลดเหลือ 163 กิโลกรัม แพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้



นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนในครั้งนี้ มีแพทย์ที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย โดยอาการหลังจากผ่าตัดนั้นถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้น ผู้ป่วยสามารถเดินได้เร็วขึ้นโดยไม่เหนื่อยง่าย เเละใช้เครื่องช่วยหายใจเฉพาะตอนนอน แต่ยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจต่อไปหลังออกจากโรงพยาบาล โดยหลังออกจากโรงพยาบาล จะมีการติดตามอาการผู้ป่วยด้วยระบบ Telemedicine และนัดมาตรวจที่ OPD ตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังคงต้องควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทานยาและอาหารเสริมโภชนาการตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.