“อัจฉริยะ” นำแรงงานกว่า 300 ชีวิต เข้าแจ้งความ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์กับเจ้าของกิจการ หลังบริษัทค้างค่าจ้างนาน 3 เดือน
13 ก.ย. 2562, 08:28
วันที่ 12 ก.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สภ.ท่ามะกา อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมสมาชิกชมรมฯ และทีมกฎหมาย ได้นำแรงงานของบริษัทชื่อดัง (บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี่ (1989) จำกัด ผลิตและจำหน่ายพืชผักและผลไม้แปรรูปเพื่อการส่งออกรายใหญ่) ที่ อ.ท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว ซึ่งเป็นชาวเมียนมา กว่า 300 คน เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ภายหลังจากบริษัทดังกล่าวไม่จ่ายค่าแรงให้กับคนงานเหล่านั้นมา 3 เดือนแล้ว
โดยมี พ.ต.อ.ณัฐวุฒิ กันตะยศ ผกก.สภ.ท่ามะกา พ.ต.อ.สำราญ กลั่นมา ผกก.ตม.บก.ตม.3 กาญจนบุรี พ.อ.บุญยิ่ง คงเกตุ หน.ฝ่ายข่าว กอ.รมน.กาญจนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งหมด รวมทั้งนายกิตตินันท์ อรรถบท นายอำเภอท่ามะกา นายสมศักดิ์ ล้ออุดม ปลัดอำเภอฝ่ายศูนย์ดำรงธรรมฯ ได้ร่วมช่วยเหลือแรงงานดังกล่าวด้วย โดยทาง สภ.ท่ามะกา ได้จัดชุดพนักงานสอบสวนในคดีไว้ประมาณ 10 นาย เพื่อรับคำร้องทุกข์
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยว่า สำหรับบริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี่ (1989) จำกัด มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท และมีบริษัทในเครือหลายบริษัท จากปัญหาความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสของแรงงานจำนวนมาก ตนจึงเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เป็นคนยากจน ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกเบี้ยวค่าจ้าง เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัทฯ ที่ค้างค่าแรง มา 3 เดือน ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแรงงานดังกล่าวได้พยายามไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัทฯ ในความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าแรง แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล ดังนั้นวันนี้เราจึงได้พาแรงงานเข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญากับเจ้าของบริษัทฯ ในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และหากวันนี้นายจ้างยังไม่ยอมจ่ายค่าแรงที่ค้างไว้ เราก็จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการขออำนาจศาลออกหมายจับเจ้าของบริษัทฯ ต่อไป
ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ได้พยายามติดต่อประสานไปทางผู้บริหารของบริษัทฯ เพื่อให้มาพบพูดคุยและเจรจาหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน โดยทางผู้บริหารแจ้งจะเดินทางมารอจนเที่ยงวัน ไม่มาเจ้าหน้าที่จึงได้ติดต่อกลับไปอีกครั้ง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถติดต่อกับผู้บริหารของบริษัทฯ ได้แต่อย่างใด
สรุปล่าสุดเมื่อ 13.30 น. ที่ผ่านมา นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้สั่งการให้ นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ลงพื้นที่เพื่อประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว โดยมี พ.ต.อ.ชวลิต สุขสุวรรณ์ รอง ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี พ.ต.อ.ณัฐวุฒิ กันตะยศ ผกก.สภ.ท่ามะกา พ.ต.อ.สำราญ กลั่นมา ผกก.ตม.บก.ตม.3 กาญจนบุรี พ.อ.บุญยิ่ง คงเกตุ หน.ฝ่ายข่าว กอ.รมน.กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งหมด รวมทั้ง นายกิตตินันท์ อรรถบท นายอำเภอท่ามะกา นายสมศักดิ์ ล้ออุดม ปลัดอำเภอฝ่ายศูนย์ดำรงธรรมฯ พร้อมด้วย นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และทีมกฎหมาย เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกันที่ศูนย์ปฏิบัติการสถานีตำรวจภูธรท่ามะกา โดยไม่มีตัวแทนเจ้าของบริษัทเดินทางมาพบและร่วมประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตให้ตัวแทนแรงงานและสื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์และรับฟังแต่อย่างใด โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที จึงแล้วเสร็จ
โดยในที่ประชุมสรุปว่า ให้ดำเนินการตรวจสอบแรงงานทั้งหมดที่ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้าง ทั้งแรงงานคนไทยและเมียนมาที่มีบัตรและไม่มีบัตร เพื่อคัดกรองแรงงาน โดยเบื้องต้นทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเร่งดำเนินการจ่ายเงินชดเชยค่าแรงตามกฎหมายกำหนดให้ 60 เปอร์เซ็นต์จากเงินค่าแรงที่นายจ้างค้างจ่าย ขณะที่ นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ระบุว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานาน ดังนั้นจึงได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเฉียบขาด พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ ใครผิดกก็ว่าไปตามผิด และหากตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือบกพร่องหละหลวมในเรื่องของแรงงานต่างด้าว ก็จะต้องถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญา ไม่ละเว้น ก่อนออกจากห้องประชุม โดยไม่ขอให้ความเห็นใดๆ
ด้าน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยว่า วันนี้เรามุ่งเน้นแก้ไขปัญหาในเรื่องของค่าแรงที่นายจ้างไม่จ่ายให้กับลูกจ้าง ขณะเดียวกันก็จะต้องการดำเนินคดีกับนายจ้างในเรื่องของการค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2562 เนื่องจากจากการตรวจสอบแรงงานทั้งคนไทยและเมียนมาเบื้องต้นพบว่า นายจ้างระบุว่าหากไม่ยอมทำงานต่อ ก็จะไม่ยอมจ่ายค่าจ้างที่เหลือ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์แรงงานบังคับ พร้อมกันนี้จะต้องมีการตรวจสอบเรื่องของการสวมสิทธิ์แรงงานต่างด้าวด้วย หากพบก็จะต้องดำเนินคดี อย่างไรก็ตามตนขอย้ำว่าแรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะต้องได้รับค่าจ้างที่ค้างจ่ายทั้งหมด แต่หากนายจ้างยังไม่ยอมจ่าย ตนจะลงพื้นที่มาดูแลแรงงานอีกครั้งเพื่อเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายกับนายจ้างรายดังกล่าวต่อไป./