วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม 6D ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูงแบบ CMT
26 เม.ย. 2565, 10:08
ที่ห้องประชุมวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม นายสงัด ยศเฮือง นายกสมาคมครูและผู้ประกอบวิชาชีพช่างเชื่อม เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม 6D ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูงแบบ CMT โดยมีครู-อาจารย์สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ จากสถานศึกษาต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมการอบรมจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำนวน 30 คน เพื่อพัฒนาความรู้และประสบการณ์ด้านหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรมให้แก่ครูผู้สอน สาขาวิชางานเชื่อมโลหะ พัฒนาสื่อการเรียนการสอนทางด้านหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรมของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูงของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน พร้อมกับนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้นักเรียน นักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการต่อตลาดแรงงานที่มีความต้องการช่างเทคนิคหุ่นยนต์เชื่อมของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ก้าวสู่ความต้องการภาคอุตสาหกรรมในยุค 4.0
นายสงัด ยศเฮือง นายกสมาคมครูและผู้ประกอบวิชาชีพช่างเชื่อม กล่าวว่า ปัจจุบันหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม (Industrial Welding Robot) ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในโรงงานอุตสาหกรรม เช่นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และประกอบรถยนต์ โรงงานประกอบเครื่องจักร โรงงานผลิตเหล็กและโรงงานผลิตสินค้าอื่น ๆ เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ ในงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ตลอดเวลา งานที่เป็นอันตราย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังคงขาดแคลนบุคลากรทางด้านหุ่นยนต์เชื่อมโลหะ เนื่องจากขาดแคลนครูที่มีความรู้และประสบการณ์ที่จะทำการสอนวิชาหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม ทางสมาคมฯ จึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน จัดการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม 6D ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงแบบ CMT ขึ้น เพื่อพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้และทักษะการออกแบบ การควบคุม และการบำรุงรักษาหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม พร้อมนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียน นักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายปริญญา สมมิตร ผู้อำนวนการวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม กล่าวว่า ในการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม ร่วมกับบริษัท ซีเทค ไดแด็คติค จำกัด ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ในภาคการศึกษา ครูช่างเชื่อมจะได้เรียนรู้ในงานเชื่อมที่มีคุณภาพ สามารถนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ไปถ่ายทอดดให้นักเรียน นักศึกษา ในสาขาวิชาช่างเชื่อม ที่ใช้เทคโนโลยี มีโปรแกรมเมอร์ในการควบคุมงานเชื่อมให้มีประสิทธิภาพ นักเรียน นักศึกษาที่เรียนในสายงานนี้ การทำงานในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสูงมาก ตลาดแรงงานทุกแห่งรองรับ จบไปมีงานทำ 100%